แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ วิจารณ์วรรณกรรม แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ วิจารณ์วรรณกรรม แสดงบทความทั้งหมด

วันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

จดหมายจางวางหร่ำ

จดหมายจางวางหร่ำ

ฉบับที่ ๑
จางวางหร่ำ ถึง นายสนธิ์ บุตร ผู้ออกไปเรียนเป็นนักเรียนอยู่ประเทศอังกฤษ
ฉบับนี้ จางวางหร่ำเขียนถึงลูกชายที่จะไปเรียนต่างประเทศ เพื่อให้ลูกได้ไปร่ำเรียนเพียรศึกษาและกลับมามีอนาคตที่ดี ถึงแม้จะมีเสียงต่อว่าบ้างว่า พวกที่ไปเรียนเมืองนอกกลับมาแล้วจะเหลวไหลไม่เอาไหน ซึ่งทำให้จางวางหร่ำต้องอธิบายต่อว่า คนจะดีอยู่ที่ไหนก็เป็นคนดี ส่วนคนที่ไม่ดีอยู่ที่ไหนก็ไม่ดี ไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษา การศึกษามีแต่จะช่วยยกระดับชีวิตของทุกคน
ฉบับที่๒
จางวางหร่ำเขียนถึง นายสนธิ์ บุตร เมื่อได้เห็นใช้เงินฟุ่มเฟือยนัก
ฉบับนี้เขียนเกี่ยวกับการใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่ายของลูกชาย คือ นายสนธิ์ ว่าทำอะไรตามเพื่อนมากเกินไป ชอบทำอะไรตามแฟชั่น ควรประหยัดเงินค่าใช้จ่ายช่วยครอบครัว ถ้าหากเงินที่เสียไปมากๆ แล้วทำให้เรียนดีขึ้น พ่อจะไม่ต่อว่าเลย แต่มันเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม คือยังอยู่ที่เดิม การมีใจโอบอ้อมอารีเป็นสิ่งดีแต่เจ้าจงใช้เมื่อเจ้านั้นสามารถหาเงินใช้ได้เองก่อน ไม่ใช่ยังใช้เงินของคนอื่นอยู่ เพราะแต่ละบาทไม่ใช่จะหามาได้ง่ายๆ ตอนนี้เจ้ายังไม่รู้ค่าของมัน ขอให้เจ้าจงประหยัดค่าใช้จ่ายลงกว่านี้
ฉบับที่ ๓
จางวางหร่ำ เขียนถึง นายสนธิ์
ฉบับนี้ เขียนเกี่ยวกับวิชาที่ นายสนธิ์ จะไปเรียนต่อ แต่จางวางหร่ำไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าวิชาที่ลูกของตนเรียนมาก็สมควรแก่งานโรงสีแล้ว ถ้าเรียนสูงมาก ก็จะหัวสูงเกินงาน ไม่ใช่ว่าเรียนสูงไม่ดี แต่ที่ไปเรียนเราเรียนไปใช้กับอาชีพอะไร เพราะเรารู้ในสิ่งที่จะทำแล้ว จึงไม่ต้องเรียนให้มากเกินความจำเป็น
ฉบับที ๔
ฉบับนี้เขียนถึงการเดินทางกลับของนายสนธิ์ ซึ่งได้เขียนจดหมายมาบอก นายจางวางหร่ำว่า จะขออ้อมมาทาง อเมริกาและญี่ปุ่น เพื่อเป็นการศึกษาบ้านเมืองของพวกเขาและเป็นการศึกษาของตนอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ นายจางวางหร่ำไม่เห็นด้วย เพราะเห็นเป็นการสิ้นเปลืองเปล่าๆ ให้กลับทางเรือเมลล์ ทางสิงคโปร์ตามเดิม ถ้าไม่อย่างนั้นก็ให้นายสนธิ์หาทางกลับเอง โดยตนจะไม่ช่วยเรื่องค่าใช้จ่าย
ฉบับที่๕
ฉบับนี้เขียนเมื่อนายสนธิ์ กลับจากยุโรปและเข้าทำงานแล้ว แต่ นายจางวางหร่ำมีธุระต้องไปกรุงเทพ โดยนายสนธิ์เขียนจดหมายไปฟ้องพ่อของตนเรื่อง การทำงานของสมุห์แสง ว่าตนคงทำงานร่วมกับเขาหรืออยู่ใต้บังคับบัญชาสมุห์แสงไม่ได้ เมื่อนายจางวางหร่ำผู้เป็นบิดาเดินทางถึงกรุงเทพจึงมีจดหมายตอบมาถึงลูกของตนว่า คนเราจะอยู่ด้วยกันได้นั้นต้องรู้จักไว้เนื้อเชื่อใจกัน เป็นเด็กต้องฟังผู้ใหญ่ สิ่งที่เจ้าเขียนมาพ่อว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะพ่อทำงานกับสมุห์แสงมานานรู้ว่าเป็นคนอย่างไร คนเราจงเป็นผู้ฟังมากกว่าเป็นผู้พูด พ่อเชื่อว่าคำที่สมุห์แสงบอกกล่าวเจ้านั้นไม่ผิดแน่ ขอให้เจ้ามั่นใจ
ฉบับที่ ๖
ฉบับนี้ จางวางหร่ำเขียนถึงนายสนธิ์ลูกชาย เรื่องการแต่งงาน ว่า การแต่งงานนี้ต้องเกิดจากความรัก ไม่ใช่ความใคร่ การจะเป็นคู่สามีภรรยา จะต้องอยู่ด้วยกันด้วยความรักจริงๆ ไม่ใช่เรื่องหน้าตา หรือ เรื่องเพศ ถ้าได้ภรรยาที่ดีก็จะทำให้เราได้ดีไปด้วย ดังนั้นการเลือกคู่ครองควรเลือกให้ดี
ฉบับที่๗

ฉบับนี้นาย จางวางหร่ำ เขียนถึงนายสนธิ์ เรื่อง เงินหมื่นบาท เพราะมีคนถามมามากว่าจะเอาเงินส่วนนี้ไปใช้ทำอะไร เพื่อจะได้เป็นที่รู้กันว่า เงินหมื่นบาทที่แพร่ออกไปอย่างรวดเร็วจนรู้โดยทั่วกันนั้น นายจางวางหร่ำได้นำไปทำบุญแล้ว แต่ไม่ต้องการเอาหน้า ที่เขียนมาบอกในครั้งนี้ก็เพื่อจะให้เจ้าช่วยประกาศบอกให้ทราบโดยทั่วกัน จะได้ไม่มีคนมารบกวนตนเองอีก

วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ปริทัศน์หนังสือ (Book Review)

ปริทัศน์หนังสือ
(Book  Review)






ผีเสื้อและดอกไม้: นิพพานฯ. (๒๕๔๖). พิมพ์ครั้งที่ ๑๙. กรุงเทพฯ : ผีเสื้อ.
๒๗๖ หน้า. ราคา ๑๓๙ บาท.


อารัมภบท
วรรณกรรมเยาวชนเรื่องผีเสื้อและดอกไม้ มีเนื้อหาอิงมาจากเหตุการณ์จริงเมื่อ ๔๐ปีก่อน เกิดขึ้นในจังหวัดทางภาคใต้ มีการทำงานที่เรียกว่า ขบวนการกองทัพมด คือการลักลอบขนข้าวสารและน้ำตาลทราย โดยสารทางรถไฟไปขายที่ประเทศมาเลเซีย ทำให้เห็นสภาพการใช้ชีวิตของเด็กวัยรุ่น ที่ยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อหาเงิน เรื่องราวต่างๆ ในเรื่องแฝงไปด้วยปรัชญาการใช้ชีวิตที่ต้องดิ้นรน อดทนต่อสู้กับความยากจน
เนื้อหาของเรื่องเสมือนเป็นการสะท้อนธรรมชาติของชีวิตมนุษย์ที่ยากจน มีอยู่จริงทุกท้องที่  แต่กลับไม่มีใครสนใจยื่นมือให้ความช่วยเหลือ ภายในเรื่องแฝงไปด้วยข้อคิดต่างๆ มากมาย ชวนให้ผู้อ่าน  คิดตาม และคอยเป็นกำลังใจให้ฮูยัน ด้วยภาษาที่ถ่ายทอดออกมาได้อย่างงดงาม เนื้อหาสมจริง ผู้อ่านสามารถรับรู้ได้ถึงความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร สภาพความเป็นอยู่ การต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด และความรักความอบอุ่นภายในครอบครัวสิ่งที่สำคัญที่สุดคือหัวใจที่เข้มแข็งของฮูยัน
ชีวิตตัวละครในเรื่องผู้แต่งบรรยายได้อย่างเหมาะสม ดูไม่เป็นการแต่งเรื่องตามจินตนาการเกินไป ชวนค้นหาบั้นปลายชีวิตของวัยรุ่นกลุ่มนี้อย่างใจจดใจจ่อ ชีวิตผีเสื้อตัวน้อยที่กำลังบินไปหาดอกไม้ ท่ามกลางแสงที่มืดหม่น จะพบจุดจบอย่างที่ผู้อ่านหลายๆ ท่านไม่อาจคาดการณ์ได้
แม้ว่าจะเป็นหนังสือที่มีมานานแล้ว แต่เนื้อหาในเรื่องยังคงให้ข้อคิดและสะท้อนสภาพสังคม  ในปัจจุบันได้อย่างชัดเจน ทั้งปัญหาด้านการศึกษา ปัญหาความยากจนที่ยังหาทางออกไม่ได้ ความไม่ยุติธรรมในสิทธิของความเป็นมนุษย์ การไม่เคารพกฎหมายของพนักงานข้าราชการ การเอารัดเอาเปรียบจากบุคคลที่ฐานะมีอันจะกิน ทำให้เข้าใจชีวิตมากขึ้น ในแง่คิดที่ว่า คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกจะเป็นได้ แต่สำหรับคนจนๆ อย่างฮูยันเลือกเกิดไม่ได้ และไม่มีหนทางให้เขาได้เลือกเดินด้วยซ้ำ
            วรรณกรรมเรื่องนี้เป็นผลงานของ นิพพานฯ หรือ มกุฏ อรฤดี ได้สร้างสรรค์ผลงานเมื่อปี ๒๕๑๘ ได้รับรางวัลหนังสือแห่งชาติ ปี พ.ศ. ๒๕๒๑และได้รับคัดเลือกให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย มีการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ก็ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองบทประพันธ์ยอดเยี่ยมและรางวัลอื่นๆ รวม ๗ รางวัล



เนื้อหาสาระโดยสังเขป
ครอบครัวของปุนจา เป็นชาวมุสลิมอยู่ในจังหวัดชายแดนใต้ติดกับประเทศมาเลเซีย มีฐานะยากจน อาศัยอยู่ในที่ดินวัดปลูกกระต๊อบอยู่ ครอบครัวมีสมาชิกทั้งหมด ๔  คน ประกอบด้วย ปุนจา หัวหน้าครอบครัว อายุ ๕๐ ปีกว่า มีอาชีพเป็นกรรมกรรับจ้างแบกของที่สถานีรถไฟ  และลูกๆ อีก ๓ คน คือ ฮูยัน-ลูกชายคนโต ดุนญา-ลูกชายคนรอง และ  อาเครญาหรือ อารยา-ลูกสาวคนเล็ก ภรรยาเสียชีวิตเมื่อคลอดลูกสาวคนเล็กออกมา
ฮูยันเป็นเด็กเรียนดี มีโอกาสจะได้รับทุนศึกษาต่อ แต่อายุเกินเกณฑ์ ฮูยันจึงตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนทั้งที่เพิ่งเรียนจบชั้น ป.๔ เพื่อมาขายไอศกรีมหาเงินช่วยพ่อส่งน้อง ๒ คนเรียนหนังสือ ช่วงปิดภาคเรียนฮูยันก็ยังขายไอศกรีมอย่างต่อเนื่องแต่ว่ารายได้ไม่ดีเท่าช่วงเปิดเทอม จนวันหนึ่งได้เจอกับ มิมปี เพื่อนชั้นเดียวกัน ทั้งสองนั่งคุยกันเพลิน โดยไม่ได้สังเกตรถไฟที่เคลื่อนขบวนออกแล้ว ทำให้ฮูยันติดรถไฟไปกับมิมปี ปุนจาจึงออกตามหาลูกชายและประสบอุบัติเหตุถูกรถไปชน ทำให้ขาหักข้างหนึ่ง ไม่สามารถทำงานได้เช่นเดิม ฮูยันจึงต้องหางานใหม่ที่มีรายได้ดีกว่าเดิม เพื่อหาลี้ยงครอบครัว
มิมปีได้แนะนำงานใหม่ให้ฮูยันทำ นั่นคือ การลักลอบขนข้าวสารและน้ำตาลทรายไปกับขบวนรถไฟ ส่งขายที่ประเทศมาเลเซีย โดยมีเพื่อนร่วมงานอีกสองคนคือ อาเดลและนาฆาซึ่งจะได้เงินมากกว่าขายไอศกรีมไปวันๆ แต่ต้องเสี่ยงชีวิตและเป็นงานที่ผิดกฎหมาย 
จุดเปลี่ยนชีวิตของฮูยันคือ การตายของเพื่อนร่วมงานชื่อ นาฆา ที่พลัดตกจากรถไฟ ทำให้ฮูยันเห็นว่าการทำอาชีพนี้ต่อไป สักวันหนึ่งเขาอาจจะเสียชีวิตหรือถูกตำรวจจับก็ได้ เขากังวลว่า ถ้าหากเขาตายแล้วพ่อกับน้องๆ จะอยู่อย่างไร มิมปีจึงเสนอให้ฮูยันไปปลูกดอกไม้ขาย ซึ่งเป็นงานที่สุจริต เนื้อเรื่องจบอย่างสุขนาฏกรรม ทั้งมิมปีและฮูยันกลับไปใช้ชีวิตอย่างสงบสุข เหมือนกับชีวิตของผีเสื้อ ที่บินได้อย่างอิสระ และบินไปหาสิ่งสวยงามได้เสมอ


เป็นอิสลามแต่อยู่ที่วัด
           ครอบครัวของปุนจาเป็นชาวมุสลิม มาอาศัยอยู่ในที่วัดปลูกกระต๊อบ เพราะไม่มีที่ทำกินเป็นของตัวเอง ก่อนหน้านั้นครอบครัวของปุนจา ต้องระเหเร่ร่อนเป็นเวลานาน กว่าจะหาที่พักและที่ทำงานได้เป็นหลักแหล่ง
ในตอนแรกนั้นใครๆ ก็มองว่าไม่ถูกต้องตามหลักศาสนา ที่มุสลิมอาศัยอยู่ในวัดไทย แต่ถ้ามองตามหลักความเป็นจริง ปุนจาคิดว่าแต่ละคนย่อมมีเหตุผลและมีความแตกต่างกันก็ไม่ถือว่าผิด ด้วยความลำบากทำให้เขาไม่คิดถึงเรื่องศาสนา คิดเพียงว่าอีกไม่นานคนเหล่านั้นก็จะหยุดพูดถึงกันเอง
ผู้แต่งต้องการสื่อให้รับรู้ว่าอดีตของครอบครัวปุนจาไม่ใช่สิ่งที่จะนำมาหยิบยกพูดถึง แต่สิ่งสำคัญคือพวกเขาจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไรในอนาคต


บทเรียนชีวิต
ฮูยันหาอาชีพเสริมเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระพ่อและส่งเสียให้น้อง ๒ คนได้เรียนหนังสืออาชีพสุจริตที่ฮูยันเลือกทำในตอนแรกคือขายไอศกรีม แม้จะมีรายได้ไม่มากนัก แต่สำหรับเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่ยากจนและยังไม่ได้เผชิญชีวิตกับโลกภายนอก ยังไม่มีโอกาสสัมผัสกับเงินมากๆ กำไรเล็กๆ น้อยๆ จากการขายไอศกรีมจึงเป็นสิ่งที่มีค่าสำหรับเขามาก ฮูยันเติบโตมาโดยมีพ่อเป็นผู้ให้ความรู้ในบทเรียนที่สำคัญของเขา ปุนจาค่อยๆ สอนบทเรียนชีวิตที่ไม่มีในหนังสือให้ฮูยัน นอกจากพ่อของเขาเป็นเหมือนครูแล้ว น้องชายของเขาคือดุนญา ก็เป็นผู้ชี้แนะว่าเขายังขาดความรู้ที่ไม่มีในหนังสือเรียนและห้องเรียน ดุนญาสอนให้ฮูยันเรียนรู้ชีวิตภายนอกห้องเรียนซึ่งเป็นชีวิตจริงๆ ที่ไม่ใช่ทฤษฎีในหนังสือเรียน
การดิ้นรนต่อสู้เป็นสิ่งจำเป็นของคนที่ด้อยโอกาสทางสังคม ความลำบากถูกส่งไปเป็นทอดแก่คนรุ่นหลัง เช่น ครอบครัวของฮูยัน ฮูยันและน้องอีก ๒ คน รับช่วงความลำบาก ความยากจนมาจากบรรพบุรุษ ต้องเรียนรู้ชีวิตกันตั้งแต่เด็ก ขาดโอกาสที่พึงได้รับจากสังคม เช่น การศึกษา ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาสังคมอย่างมากทีเดียว เด็กเหล่านี้อาจจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีปัญหาหรือถ้าขาดจิตสำนึกที่ดี ความวุ่นวายของสังคมจึงไม่จบไม่สิ้นเสียที  แต่สำหรับฮูยันและน้องๆ คงห่างไกลจากเรื่องเหล่านี้ เพราะทุกคนได้รับการปลูกฝังมาอย่างดีจากผู้เป็นพ่อ

จุดเปลี่ยนชีวิต
เหตุการณ์ที่พ่อถูกรถไฟชนจนขาหัก เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตของฮูยัน คือฮูยันต้องตัดสินใจอย่างเด็ดขาดที่จะเปลี่ยนอาชีพมาทำงานขนข้าวสาร เขายอมเสี่ยงชีวิตเพื่อหาเงินมารักษาพ่อและให้น้องๆ ได้เรียนหนังสือ จากเด็กชายเรียนดีต้องกลายมาเป็นเด็กค้าของเถื่อน เปลี่ยนแปลงตนเองตามสภาพแวดล้อมที่เขาอยู่ เปลี่ยนการแต่งกาย สูบบุหรี่ตามเพื่อน ฮูยันอายุเพียง ๑๓ปี แต่ภาระหน้าที่ของเขาชั่งหนักหนาเหลือเกิน และคิดว่าเป็นงานที่ไม่เหมาะกับเด็กวัยนี้ แต่เขาไม่มีทางเลือกอื่นแล้วจริงๆ เพราะสภาพสังคมและความไม่ยุติธรรมของชีวิตที่เป็นตัวบังคับให้เขาต้องเดินทางผิด
ทำไมหนอ- - - ฮูยันเริ่มคิด สมองของเขาสับสนวุ่นวายไปหมด ทุกสิ่งมันประดังกันเข้ามา เหมือนผึ้งแตกออกจากรังกรูเกรียวอย่างไม่เป็นระเบียบ ทำไมเรื่องร้ายจะต้องจำเพาะมาอยู่ที่ครอบครัวของเขา ทำไมมันไม่เกิดขึ้นกับคนอื่นบ้าง?

เหตุการณ์นี้ชั่งเป็นเรื่องเลวร้ายในชีวิตของตัวละครมาก ครอบครัวนี้โชคร้ายที่เกิดมาจนไม่มีหนทางจะทำมาหากินเท่าคนอื่นๆ แล้วยังต้องมาประสบอุบัติเหตุซ้ำเติมความรันทดเข้าไปอีก แล้วจะมีหนทางใดให้ฮูยันได้เลือกเดินอีก นอกจากเลือกทำงานที่ผิดกฎหมายเพื่อแลกกับเงินมารักษาพ่อฮูยันเป็นตัวแทนของเด็กยากจนคนหนึ่ง ที่มีความกตัญญูต่อบุพการี เมื่อถึงคราวยากลำบาก หมดปัญญาหาทางออกจริงๆ เขาต้องยอมทำงานทุกอย่างเพื่อพ่อ ชีวิตของพ่อเขานั้นมีค่ามากพอที่จะแลกกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เขามีอยู่ หากพ่อของเขาต้องตายไป ไม่มีอะไรจะมาทดแทนพ่อของเขาได้เลย เขาไม่รู้เลยว่าจะมีใครที่ดีเท่าพ่อของเขาอีก
ความหนักหน่วงในความรับผิดชอบของฮูยันเพิ่มขึ้นเมื่อต้องกลายเป็นเสาหลักสำคัญของครอบครัวในการทำมาหากิน แต่ฮูยันก็ยังไม่ท้อต่อชะตาชีวิตตัวเอง ความมุ่งมั่นและอดทนที่มีอยู่ในตัวเขาเริ่มปรากฏออกมาให้ได้เห็นจากการทำงานนี้


คนตายสอนคนเป็น
วันหนึ่งฮูยันได้มีโอกาสรับรู้ความจริงในใจของเพื่อนคนหนึ่ง คือนาฆา บอกกับฮูยันว่าอยากจะเลิกทำอาชีพนี้ เพราะชีวิตต้องเผชิญกับความเสี่ยงตลอดเวลา และมันเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายด้วย ฮูยันก็เห็นด้วยแต่ยังไม่ตัดสินใจทันทีว่าจะเลิกอาชีพนี้ เพราะยังมองไม่เห็นลู่ทางทำมาหากินแทนอาชีพนี้ได้ การเข้ามาทำอาชีพนี้อย่างเต็มตัวทำให้รับรู้ว่าในสังคมมีแต่คนทำผิดกฎหมาย ไม่เว้นแม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจเอง สังคมจึงได้เสื่อมโทรมลงไปทุกวัน ความคิดของนาฆาเป็นสิ่งที่สำคัญช่วยเตือนสติฮูยัน ทำให้ ฮูยันคิดถึงพ่อกับน้องที่อยู่บ้าน คนที่บ้านยังจำเป็นต้องใช้เงิน เขาเองยังมีเงินเก็บไม่มากนัก แต่เขาคิดว่าสักวันหนึ่งเขาก็จะเลิกทำอาชีพนี้
การตายของนาฆาเพื่อนร่วมงานของฮูยัน จากการพลัดตกรถไฟเสียชีวิต เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตของฮูยัน  ผู้แต่งใช้กลวิธีให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของฮูยันกับนาฆามาถึงทางเลือกในการตัดสินใจ ทำให้ฮูยันได้กลับตัวเป็นคนดี เลิกทำอาชีพที่ผิดกฎหมายต่อไป ทำให้ฮูยันคิดได้ว่า ชีวิตของคนเราก็ไม่แน่นอน หากเขายังทำงานนี้ต่อไป สักวันหนึ่งคงเกิดเหตุการณ์แบบนาฆา
ผู้แต่งใช้ความตายของนาฆาเป็นตัวพลิกผันชีวิตของฮูยันให้กลับไปเดินทางที่ถูกต้อง เมื่อนาฆาเสียชีวิตลง ฮูยันก็มีทางออกเลิกทำงานที่ผิดกฎหมาย เขาหางานอาชีพใหม่ทำ คือการปลูกดอกไม้ตามคำแนะนำของมิมปี คนเรามักจะไม่รู้ตัวเมื่อความลำบากเข้ามาในชีวิต เราต้องหาวิธีให้ตัวเองรอดพ้นจากความยากลำบากให้ได้ จนลืมนึกถึงความถูกต้อง
จากที่ได้กล่าวมา ทำให้เห็นว่าคนสำคัญที่ช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตฮูยันคือนาฆา แม้ว่านาฆาจะตายก่อนเวลาอันสมควร แต่เหตุการณ์นี้เหมือนกับบทเรียนคนตายสอนคนเป็น การตายของนาฆาสอนให้ฮูยันและเพื่อนร่วมอาชีพเห็นความสำคัญของชีวิต แต่ความตายไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด การผจญภัยอันโหดร้ายครั้งสุดท้ายของนาฆานี้ เป็นตัวเชื่อมไปสู่จุดจบของเรื่องได้อย่างงดงาม

            ผีเสื้อกำลังบินไปหาสิ่งสวยงาม
            หลังจากที่นาฆาตาย ฮูยันก็เลิกทำอาชีพผิดกฎหมายทันที แล้วเปลี่ยนมาปลูกต้นไม้ตามคำแนะนำของมิมปี โดยมิมปีเสนอตัวเองเป็นคนรับดอกไม้ไปขายให้เรื่องราวของเรื่องจบแบบสุขนาฏกรรม ซึ้งสอดคล้องกับชื่อเรื่องคือ ผีเสื้อและดอกไม้

รถยนต์โดยสารประจำทางแล่นออกมานอกเมือง สองข้างทางเป็นป่า ฮูยันมองออกไปข้างนอก เขารู้สึกเหมือนว่า ตัวเองกำลังเป็นผีเสื้อน้อยตัวหนึ่ง ที่กำลังโบยบินไปหาดอกไม้แสนสวย- - - ”

แสดงให้เห็นถึงความสุข อิสรภาพ ความงดงาม และความถูกต้อง เพื่อตอกย้ำว่าชีวิตของคนเราต้องได้พบกับสิ่งสวยงามบ้าง ไม่ใช่จมอยู่แต่กับความทุกข์ระทมเสมอไป เช่นเดียวกับชีวิตของฮูยันและมิมปี เขาไม่จำเป็นต้องทำงานผิดกฎหมายเสี่ยงอันตรายอีกต่อไป อาชีพปลูกต้นไม้ขายจะเป็นหนทางที่สร้างความสุขให้พวกเขาได้อย่างแท้จริง
และวันนี้ผีเสื้อทั้งสองตัวกำลังโบยบินไปหาดอกไม้ที่สวยงามแล้ว นับว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตนี้ได้พบเจอ
ความเห็นต่อ ผีเสื้อและดอกไม้
นิพพานฯ เป็นนักเขียนที่มีความสามารถในการสร้างงานวรรณกรรมได้ดีผู้หนึ่ง โดยเฉพาะการเลือกเอาปัญหาของคนยากจนมานำเสนอได้อย่างมีคุณค่า มองเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งปัญหาด้านการศึกษา เศรษฐกิจ ศาสนาและวัฒนธรรมได้อย่างประณีต โดยอาศัยมาจากประสบการณ์ในเหตุการณ์จริง ผสานกับจินตนาการของผู้แต่ง สอดแทรกความรู้ด้านประเพณีและวัฒนธรรมของชาวมุสลิมเข้าไป ซึ่งมีเอกลักษณ์แตกต่างกันไปตามลักษณะของแต่ละท้องถิ่น
วรรณกรรมเยาวชนเรื่องผีเสื้อและดอกไม้ มีเนื้อหาอิงมาจากเหตุการณ์จริงเมื่อ ๔๐ ปีก่อน เกิดขึ้นในจังหวัดทางภาคใต้ มีการทำงานที่เรียกว่า ขบวนการกองทัพมดคือการลักลอบขนข้าวสารและน้ำตาลทราย โดยสารทางรถไฟไปขายที่ประเทศมาเลเซีย ทำให้เห็นสภาพการใช้ชีวิตของเด็กวัยรุ่น ที่ยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อหาเงิน เรื่องราวต่างๆ ในเรื่องแฝงไปด้วยปรัชญาการใช้ชีวิต ที่ต้องดิ้นรน อดทนต่อสู้กับความยากจน
ชีวิตตัวละครในเรื่องผู้แต่งบรรยายได้อย่างเหมาะสม ดูไม่เป็นการแต่งเรื่องตามจินตนาการเกินไป ชวนค้นหาบั้นปลายชีวิตของวัยรุ่นกลุ่มนี้อย่างใจจดใจจ่อ ชีวิตผีเสื้อตัวน้อยที่กำลังบินไปหาดอกไม้ ท่ามกลางแสงที่มืดหม่น จะพบจุดจบอย่างที่ผู้อ่านหลายๆ ท่านไม่อาจคาดการณ์ได้
สะท้อนให้เห็นถึงแง่คิดในการดำเนินชีวิตของคนยากจนในสังคมที่ถูกมองข้ามจากคนส่วนใหญ่ การดำรงชีวิตในสถานะคนยากจนและเป็นคนต่างศาสนา ความสำคัญด้านการศึกษาที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสถานะทางสังคม 
ฉากในเรื่องนี้อิงมาจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เหตุที่ผู้แต่งได้หยิบยกเอามาเป็นฉากหลังของเรื่องทั้งหมด เพราะในขณะนั้นมีขบวนการลักลอบนำน้ำตาลทรายและข้าวสารไปขายที่ประเทศมาเลเซีย ด้วยความที่ผู้แต่งเองเป็นคนอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา จึงมองเห็นเหตุการณ์นี้ และให้ความสำคัญกับกลุ่มชนเล็กๆ แล้วนำมาถ่ายทอดให้ผู้อ่านได้รับรู้เรื่องราวของกลุ่มวัยรุ่นชาย
ผู้แต่งได้กระตุ้นให้ผู้อ่านตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตที่อยู่ในภาวะปัญหาสังคม โดยเฉพาะปัญหาด้านความยากจนและการศึกษาที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทางสังคม คุณค่าด้านการศึกษาที่ทำให้ผู้อ่านตระหนักได้ว่า การศึกษากำลังเป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบัน โดยมีสาเหตุมาจากความยากจน และมีค่านิยมส่งเสริมให้เด็กเกิดการเรียนรู้แต่ภายในห้องเรียน จนลืมไปว่า การเรียนรู้ไม่ได้เกิดแต่เพียงในห้องเรียนเท่านั้น แล้วเด็กที่ไม่มีโอกาสรับการศึกษาก็ย่อมหมดหนทางทำมาหากินตามไปด้วย แสดงให้เห็นถึงความไม่เสมอภาคกันของมนุษย์ที่อยู่ร่วมสังคมเดียวกัน

นอกจากนี้ยังมีคุณค่าด้านอื่นๆ แฝงไปด้วย เช่น คุณธรรม การมีน้ำใจต่อคนรอบข้าง แม้ว่าตนเองจะมีฐานะยากจน แต่การแบ่งปันนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับฐานะทางการเงิน แต่อยู่ที่จิตใจที่เปี่ยมไปด้วยความมีเมตตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คุณค่าด้านวัฒนธรรมประเพณีและศาสนาที่ผู้แต่งได้หยิบยกเอาประเพณีที่สำคัญสำหรับชาวไทยมุสลิมมาเสนอให้ผู้อ่านได้รับรู้ ทำให้เห็นว่าแต่ละท้องถิ่นย่อมมีเอกลักษณ์แตกต่างกันไป แล้วตัวละครและเหตุการณ์ในเรื่องเกิดขึ้นในจังหวัดทางภาคใต้ที่ประชาชนส่วนมากเป็นชาวไทยมุสลิม จึงนำเสนอประเพณีประจำถิ่น เพื่อให้เรื่องดูสมจริงและชวนผู้อ่านเพลิดเพลินไปกับงานที่ยิ่งใหญ่และสวยงามเช่นนี้


                                                                                         




                                                                                                                                   ปล.แก้มย้วย

วิจารณ์ เรื่อง การล่มสลายของสถาบันครอบครัวที่ความรักไม่อาจเยียวยา

เรื่อง การล่มสลายของสถาบันครอบครัวที่ความรักไม่อาจเยียวยา

สิ่งใดจะแทนรักได้
ความรักที่ผิดหวัง คงไม่มีใครต้องการพบเจอกับสถานการณ์แบบนี้แน่นอน เพราะทุกคนล้วนต้องการความรักที่สมบูรณ์แบบ ความรักที่สมหวัง ความรักที่สามารถสร้างความสุขให้กับชีวิตได้ แต่จะมีสักกี่คนที่ได้พบกับความรักที่งดงามเช่นนี้ และมีอีกกี่คนต้องพบกับความรักที่มีแต่ความเจ็บปวดฝังใจ หากวันหนึ่งเราต้องพบกับความรักที่ผิดหวัง ดั่งคมมีดกรีดลงผิวบาดลึกไปถึงทรวงใน เราคงนอนร้องไห้คร่ำครวญแทบบ้าคลั่ง จนไม่เหลือเค้าโครงของความเป็นมนุษย์ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความเจ็บปวดนั้นจะสูญสลายไปตามกาลเวลา เหลือเพียงรอยแผลเป็นที่ไม่มียาตัวใดรักษาให้หายได้ บางคนอาจทนรับความเจ็บปวดไม่ไหว จนต้องหาทางออกโดยวิธีการในแบบฉบับตัวเอง เพื่อกอบกู้ความรักให้กลับมางดงามดังเดิม
การล่มสลายของสถาบันครอบครัวที่ความรักไม่อาจเยียวยา ผลงานของ อรุณวดี   อรุณมาศ นักเขียนหญิงของวงการวรรณกรรมไทย เป็นหนังสือที่ผ่านเข้ารอบหกเล่มสุดท้ายรางวัลซีไรต์ปี พ.ศ. 2540 เป็นนวนิยายเชิงจิตวิเคราะห์มนุษย์ในสถานการณ์อันตีบตัน มีความโดดเด่นด้านความรุนแรงทางอารมณ์ เนื้อหาสะท้อนปัญหาสังคมที่เกิดจากครอบครัว ทำให้เห็นสภาพจิตใจของเด็กผู้หญิงที่เกิดมาท่ามกลางความไม่ต้องการของคนในครอบครัว
สำหรับนวนิยายเรื่องแรกของเธอเล่มนี้ เราไม่กล้ายืนยันว่าเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องแต่ง แต่ทุกประโยค ทุกถ้อยคำที่เธอนำมาเรียบเรียงร้อยไว้ ล้วนแต่พุ่งกระแทกสู่ความรู้สึกอย่างรุนแรง- รุนแรง จนเราสามารถมองเห็นภาพความตายไหวยะเยือกอยู่ตรงหน้า ไม่ว่าจะหลับตาหลบหรือสั่นหน้าปฏิเสธ แต่เราจะวางใจได้หรือว่าสิ่งนี้ไม่ได้มีอยู่จริงในสังคม
                                                                                คำนำสำนักพิมพ์
การล่มสลายของสถาบันครอบครัวที่ความรักไม่อาจเยียวยาหรือแล้วแต่ผู้อ่านท่านอื่นๆจะเรียก ความรักไม่อาจเยียวยา เป็นเรื่องราวของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่เกิดมาพร้อมกับคำว่าไม่มีใครต้องการ มักจะมีคนพูดกรอกหูเธอเสมอว่าแม่ต้องการจะทำแท้งเอาเธอออก เธอไม่เคยเจอหน้าพ่อที่แท้จริงของเธอ มีพี่สาวร่วมสายเลือดเดียวกันอยู่หนึ่งคน แต่กลับไม่เคยได้อยู่ร่วมกัน จนหาความผูกพันระหว่างพี่กับน้องไม่ได้เลย ชีวิตในวัยเด็กต้องย้ายบ้านไปอยู่กับญาติพี่น้องคนอื่นๆ อยู่เสมอ ในขณะที่แม่ต้องไปทำงานต่างประเทศ ทำให้เธอกลายเป็นเด็กขาดความรัก ความอบอุ่นจากพ่อและแม่ มีชีวิตอยู่ท่ามกลางความเกลียดชัง และเติบโตมากับความรุนแรงของคนในครอบครัว เมื่อแม่กลับมาแล้วพาเธอไปอยู่กับพ่อ แต่เธอไม่สามารถเรียกพ่อได้เต็มปาก ไม่สามารถเข้าไปกอดได้เหมือนพ่อลูกคู่อื่นๆ เพราะญาติพี่น้องของพ่อไม่มีคนยอมรับให้เธอเป็นลูกหลานบ้านนี้ พ่อมักจะใช้เธอไปจับสัตว์เล็กสัตว์น้อย เพื่อนำมาเป็นอาหารให้นกที่พ่อเลี้ยงไว้ เป็นการปลูกฝังให้เธอต้องพบกับการทารุณและโหดร้ายตั้งแต่เด็กเมื่อเธอทำอะไรไม่ถูกใจ พ่อมักจะลงโทษ และด่าทอด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย ซึ่งแตกต่างจากพี่สาวของเธออย่างสิ้นเชิง เพราะพ่อให้ความรัก ความสนใจกับพี่สาวมากเกินไป จนลืมว่าพ่อก็มีลูกสาวอีกหนึ่งคน
ความรู้สึกที่เธอถูกปฏิเสธไม่เป็นที่ยอมรับจากคนรอบข้าง สะสมมาจนกระทั่งเธอโตเป็นสาว ขณะนี้แล้วก็ยังไม่มีใครให้ความสำคัญกับเธอเลย ความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวเข้ามาแทนที่ความอบอุ่นจากพ่อและแม่ ทำให้เธอเลือกเดินทางผิด หันไปพึ่งสารเสพย์ติด โดยเริ่มจากยานอนหลับก่อน แล้วเพิ่มฤทธิ์ยาขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้กลายเป็นคนติดยานอนหลับ เธอต้องการเรียกร้องความสนใจจากแม่ ด้วยการทำร้ายตัวเองโดยวิธีที่วิตถารคล้ายกับคนโรคจิต เป็นวิธีที่น่าสยดสยองและสะอิดสะเอียนความเจ็บปวดครั้งนี้ทำให้เธอรู้สึกได้ว่า เธอยังมีชีวิตอยู่เพื่อรอคอยความรักจากแม่
นวนิยายเรื่องนี้ ไม่ได้มีการกำหนดชื่อตัวละคร มีเพียงแต่ ฉันเป็นตัวดำเนินเรื่อง กลวิธีในการเล่าเรื่อง ผู้แต่งเป็นคนกำหนดให้ตัวละครเล่าเรื่องของตัวเองสลับไปมาระหว่างอดีตและปัจจุบัน เหมือนกับการเขียนบันทึกประจำวันบอกเล่าเรื่องของตนเอง เป็นการเปิดปมตัวละครไปเรื่อยๆ ว่าเพราะเหตุใด ฉันต้องทำร้ายร่างกายและจิตใจของตนเองถึงขนาดนี้ นอกจากนั้นแล้ว เธอไม่ได้ทำร้ายแค่ตัวเองเท่านั้น ยังทำร้ายจิตใจของคนเป็นแม่ด้วย เธอรู้อยู่แก่ใจว่าการที่เธอทำแบบนี้แล้วแม่จะต้องร้องไห้เสียใจ แต่เธอก็ยังทำเพื่อความรักที่ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยได้สัมผัสสักครั้ง
ฉากหลังของเรื่องคือครอบครัวที่ไม่อบอุ่น คนในครอบครัวขาดภาวะของการเป็นผู้ปกครองที่ดี แยกทางกันอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับชื่อเรื่อง คือ การล่มสลายของสถาบันครอบครัวฯในเรื่องนี้ผู้แต่งเน้นที่ฉากและบรรยากาศของเรื่อง ซึ่งแต่งได้อย่างโดดเด่นและเห็นภาพชัดเจนเกิดอารมณ์ร่วมกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น ชวนสะอิดสะเอียนไปกับกลิ่นคาวเลือด ฉากที่ผู้แต่งบรรยายได้เห็นภาพชัดเจนสำหรับผู้อ่าน คือฉากที่ตัวละครเอกทำร้ายตัวเองด้วยการปล่อยให้เลือดไหลออกมาทางสายน้ำเกลือแล้วนำมาดื่ม ขณะที่อ่านรู้สึกอยากจะอาเจียนออกมา คล้ายกับว่าผู้อ่านเป็นคนดื่มเลือดเข้าไปเอง ผู้แต่งได้ดึงความรู้สึกของผู้อ่านเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในเรื่อง สร้างความกดดันและสลดใจให้กับผู้อ่าน ทำให้คล้อยตามและชวนพะอืดพะอมไปในเวลาเดียวกัน
บรรยากาศเหมือนอยู่กึ่งกลางระหว่างความเป็นกับความตายให้ความรู้สึกที่หดหู่สิ้นหวัง เป็นคนไร้ความหมาย ทั้งที่ศักดิ์ศรีความเป็นคนมีเท่ากัน แต่สำหรับเธอนั้น ดูเหมือนจะเป็นเพียงมารหัวขนที่เป็นผลพลอยได้จากกามารมณ์เท่านั้น ไม่ได้มีความหมายใดๆต่อคนในครอบครัวเลย
พื้นฐานของมนุษย์ทุกชีวิตล้วนเติบโตและถูกหล่อหลอมมาจากพฤติกรรมที่มีอยู่ในสังคม โดยสถาบัน ครอบครัวคือสถาบันที่อยู่ใกล้ชิดที่สุดสำหรับมนุษย์ทุกคน คนในครอบครัวควรให้ความรัก อบรมสั่งสอนมีการปลูกฝังแต่สิ่งที่ดีงาม เป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็กได้ยึดถือเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต เพื่อจะได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสมบูรณ์เพียบพร้อมไปทุกด้าน ทั้งด้านการศึกษา สติปัญญาและจิตใจ
การล่มสลายของสถาบันครอบครัวที่ความรักไม่อาจเยียวยา เป็นหนังสือที่ตีแผ่ด้านมืดในจิตใจของมนุษย์ ที่หลายๆคนไม่เคยเจอหรือสัมผัสมาก่อนให้เห็นความสำคัญของคนในครอบครัวตนเอง ในสถานการณ์ที่เปล่าเปลี่ยวขาดความรักจากคนในครอบครัว อยู่ท่ามกลางกลิ่นคาวเลือดและความตาย ตัวละครยังอยากมีชีวิตอยู่บนความเจ็บปวด เพื่อตามหาสิ่งที่เรียกว่าความรัก 
สิ่งสำคัญสำหรับครอบครัวคือคำว่า ความรัก หากล่มสลายไปแล้ว ไม่มีสิ่งใดมาเยียวยาให้กลายเป็นปกติได้

                                                                                                        ปล.แก้มย้วย


วิจารณ์ ญ่า อังคาร กัลยาณพงศ์

ค่าด้อยเพียงดิน

ญ่างานประพันธ์ของ อังคาร กัลยาณพงศ์ มีลักษณะการเล่าเรื่องคล้ายกับนิทานร้อยแก้ว ซึ่งเกิดจากจินตนาการและกระแสสำนึกในคุณค่าของโลกธรรมของผู้แต่งเองแม้ว่าจะมีการกล่าวเกินจริงและเสริมแต่งไปด้วยจินตนาการแต่ผู้อ่านสามารถรับรู้ได้ว่า เหตุการณ์ต่างๆในเรื่องเกิดขึ้นจริงในสังคมปัจจุบัน นิทานเรื่องญ่า จัดว่าเป็นนิทานชีวิตได้อย่างเหมาะสม เพราะนำเสนอคุณค่าของทุกชีวิต ไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์ หรือธรรมชาติต่างๆที่อยู่รอบตัวมนุษย์ บ่งบอกเวลาและสถานที่ชัดเจน มีตัวละครดำเนินเรื่อง ซึ่งผู้อ่านเชื่อว่าตัวละครญ่า ในเรื่องนี้เป็นตัวแทนของคนแก่ที่ถูกทอดทิ้งให้อยู่คนเดียว ไร้ลูกหลานคอยดูแล หรืออีกแง่หนึ่ง คือตัวแทนของกลุ่มชนรากหญ้า ไร้อำนาจวาสนา ถูกคนอื่นดูถูกเหยียดหยาม คล้ายกับหญ้าที่อยู่ต่ำติดดิน มีแต่คนเหยียบย่ำ น้อยคนนักที่จะเห็นความสำคัญของหญ้า ที่ช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับผืนดินที่ทุกคนใช้เดินกันอยู่ทุกวัน
เรื่อง ญ่า เปิดเรื่องด้วยการกล่าวถึง ช่วงเวลาและฤดูกาลหนึ่ง โดยใช้คำว่า สายัณต์หนึ่งในวสันตฤดูฝนหายพรายเมฆขาวสะอาด  และกล่าวถึงฉากและสถานที่ ที่เป็นฉากหลังในเรื่องนี้ เป็นชนบทเปล่าเปลี่ยวห่างไกลจากตัวเมืองเป็นการเกริ่นนำเข้าสู่เนื้อเรื่องด้วยการใช้คำง่ายๆ แต่ผู้แต่งก็เลือกสรรคำได้อย่างเหมาะสมกัน ใช้สำนวนได้สละสลวย ชวนอ่าน และเห็นภาพในเวลานั้นได้อย่างชัดเจน ให้ความรู้สึกที่โดดเดี่ยว ถูกทอดทิ้งไว้กลางป่าเขา และฉากธรรมชาติที่ให้ความสมจริงของเรื่องนี้
ผู้แต่งกำหนดให้ตัวละครหญิงชราอายุแปดสิบเศษที่ต้องอาศัยอยู่ห่างไกลจากตัวเมือง เป็นตัวดำเนินเรื่อง โดยให้มีความสัมพันธ์กับเหล่าพืชผักนานาชนิดมีการวางโครงเรื่องไม่ซับซ้อนคือนำเสนอเรื่องไปเรื่อยจนจบอย่างไม่ทิ้งปมปัญหาไว้เรื่องเริ่มต้นตั้งแต่ ญ่าหายป่วยแล้วอยากกินข้าวกับแกงเลียง จึงได้ออกไปเก็บยอดผักหญ้ามาทำเป็นอาหาร จนได้พบกับความอัศจรรย์ใจที่พืชผักสามารถพูดจาสื่อสารกับนางได้ และได้เปลี่ยนความรู้สึกเป็นความซาบซึ้งในคุณความดีของพืชผักเหล่านั้น แต่สุดท้ายญ่าก็บังเอิญถูกงูฉกตาย ทำให้พืชผักร่ำไห้คร่ำครวญ เสียใจกับการจากไปของญ่าผู้แต่งได้ใช้คำบ่งสถานการณ์ว่า อยู่มาวันหนึ่ง เพิ่งหายไข้,  ขณะนี้หญิงชราล้มเจ็บป่วย,บังเอิญถึงคราวเคราะห์ร้ายช่วยให้โครงเรื่องถูกนำเสนอไปอย่างต่อเนื่องและนำไปสู่จุดจบอย่างรวดเร็ว
เรื่องนี้ใช้ภาพพจน์บุคลาธิษฐานในการดำเนินเรื่องทั้งเรื่อง คือการกำหนดให้สิ่งที่ไม่มีชีวิตให้มีชีวิต ยิ่งเป็นการเสริมให้ร้อยแก้วเรื่องนี้มีลักษณะเป็นนิทานมากขึ้นเพราะนิทานคือการแต่งขึ้นมาจากจินตนาการให้สิ่งที่ไม่มีชีวิตสามารถพูดได้อยู่แล้ว โดยการสร้างให้เหล่าพืชผักสามารถพูดจาสื่อสารกับญ่าได้ เพราะ ได้รับพรวิเศษจากเทพเจ้า เพื่อให้ผู้อ่านไม่เกิดความสงสัยและมองข้ามไปว่าเหตุใดพืชผักถึงพูดได้และให้ผู้อ่านมุ่งสนใจไปที่แก่นของเรื่องที่ผู้แต่งกำหนดไว้ภายในนิทานเรื่องนี้ เช่นตอนที่ ญ่าสนทนากับยอดตำลึงญ่าเก็บฉันก่อนเถอะ เถานั้นเป็นน้องสาว รอไว้พรุ่งนี้ บางทีเธออาจจะมีเรื่องสนทนาปราศรัยกะญ่าบ้างก็ได้ยอดกระถินถามนางบ้างว่า ญ่ามีข้าวสารหรือเปล่าถ้อยคำเหล่านี้มีความเหมาะสมกับบริบทสภาพแวดล้อม ดูไม่เป็นการจงใจให้เกิดขึ้น เพราะประโยคสนทนาเหมือนกับว่ามนุษย์กำลังสนทนากันเอง เพื่อให้ความรู้สึกว่า พืชผักก็มีชีวิต มีความรู้สึกเช่นเดียวกับมนุษย์

นิทานร้อยแก้วเรื่องนี้จะมีลักษณะคำประพันธ์คล้ายร่ายกลายๆ คือไม่มีเครื่องหมายคำพูดในบทสนทนาและมีการเลือกสรรคำให้ผิดแปลกไปจากภาษาเขียนและภาษาพูดเช่น พิศวงงงงวยสนทนาปราศรัย เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ วิเวกวังเวง ตระหนี่ถี่เหนียว อุปนิสัยใจคอ  เป็นต้น ซึ่งถือว่ามีความโดดเด่นด้านการใช้คำซ้อน ช่วยเสริมให้เนื้อเรื่องและตัวละครเด่นชัดยิ่งขึ้น เป็นงานเขียนที่แปลกใหม่และสร้างความสนใจดึงดูดแก่ผู้อ่านเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้แล้ว ถ้อยคำสำนวนที่ผู้แต่งคัดสรรมาเรียบเรียงนั้น ได้สอดแทรกความคิดของตนเองเข้าไปแทนตัวละคร ทำให้ตัวละครไม่ได้มีความคิดอย่างอิสระ เห็นได้จากการบรรยายความรู้สึกของตัวละคร ที่ว่า งูกัดซ้ำเข้าที่มือจึงรู้สึกตัวว่าถูกงูกัด ก็พลันตกใจสิ้นสติ เป็นลมล้มลงขอบสระนั้น มินานนักฤทธิ์อันร้ายแรงของอสรพิษ ก็ทวนกระแสโลหิตในวัยชราอันมีกำลังต้านทานน้อยเหลือเกิน เร่งฝ่ากระแสโลหิตเข้าสู่ห้องหัวใจ ดับแรงเต้นของชีพจรให้วอดวายลง หญิงชราก็สิ้นลม แต่ตานั้นลืมโพรงราวจะเป็นห่วงถึงผักหญ้าพฤกษาลดามาลย์ เสมือนมิตรสหายอันยากจะหาใครมาเทียบเทียมได้
โดยพิจารณาจากประโยค อันมีกำลังต้านทานน้อยเหลือเกิน จริงอยู่ที่ว่า วัยชราย่อมมีพละกำลังต้านทานพิษงูน้อยกว่าวันหนุ่มสาว ยิ่งผู้แต่งตั้งใจใช้คำว่า น้อยเหลือเกิน แสดงให้เห็นถึงอารมณ์อ่อนไหวคล้อยตามตัวละครไป และตัวอย่างที่ชัดเจนว่า นิทานเรื่องนี้มีความคิดของผู้แต่งเข้าไปอย่างชัดเจน คือแต่ตานั้นลืมโพรงราวจะเป็นห่วงถึงผักหญ้าพฤกษาลดามาลย์เพราะตัวละครตายไปแล้ว ผู้แต่งจะรู้ซึ้งถึงความคิดของผู้ตายได้อย่างไร ว่ากำลังเป็นห่วงสิ่งใดอยู่ นอกจากผู้แต่งจะใส่ความคิดเห็นส่วนตัวลงไปเติมแต่งให้นิทานเรื่องนี้ดำเนินต่อไปถึงจุดจบ


ปล.แก้มย้วย













วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

มหาภารตยุทธ์ ย่อๆ

มหาภารตยุทธ์

จุดกำเนิดเรื่องราว
          มหาภารตะ หรือ มหาภารตยุทธ เกิดจากการรจนาของฤาษีวยาส หรือ กฤษณะ ไทวปายนะ ซึ่งเป็นบุตรของ ฤาษีปราศร กับนาง สัตยวดี จุดหมายของการรจนาครั้งนี้ก็เพื่อไว้นำไปสั่งสอนศิษย์ แต่มหาภารตะที่รจนาไว้นั้นมีความยาวเป็นแสนโศลก จึงยากที่จะหาใครมาลิขิตหรือบันทึกไว้ให้ได้หมด พระพรหมณ์เมื่อทราบถึงเจตนาของฤาษีวยาส จึงปรากฏตัวต่อหน้าฤาษีวยาส และบอกว่ามีผู้ที่สามารถลิขิตหรือบันทึกเรื่องราวให้ท่านได้ คือ พระคเณศ ซึ่งเป็นเทพแห่งปัญญา เมื่อได้พบพระคเณศจึงบอกถึงจุดมุ่งหมายของตนในครั้งนี้ที่มา พระคเณศก็ยินดีที่จะลิขิตให้แต่มีเงื่อนไข คือ ให้ฤาษีวยาส รจนาจนาโดยการร่ายยาวจนจบห้ามหยุดพัก ฤาษีวยาสก็มีเงื่อนไขเช่นกันว่า พระคเณศเองต้องเข้าใจสิ่งที่ตนรจนาก่อนจึงลิขิตหรือบันทึกข้อความลงไป เมื่อตกลงกันเรียบร้อย ทั้งสองจึงทำการรจนาและลิขิต ข้อความจนจบ เกิดเป็นมหาภารตะ
เรื่องย่อ
          มหาภารตยุทธ์ เป็นการพรรณนาถึงกษัตริย์แห่งราชงวศ์ภรต หรือ ภารต อันเป็นชื่อของเผ่าพันธุ์และประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นเรื่องราวการขับเคี่ยวสงครามระหว่างพี่น้องตระกูลเการพและตระกูลปาณฑพ ซึ่งทั้งสองตระกลูต่างสืบเชื่อสายมาจากบรรพบุรุษเดียวกันคือ ท้าวภรต จุดประสงค์ของการทำสงครามก็เพื่อแย่งชิงราชสมบัติและปกครองแผ่นดิน ซึ่งฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายธรรมมะ อีกฝ่ายเป็นฝ่ายอธรรม ณ ทุ่งราบกุรุเกษตร ทั้งสองฝ่ายทำการรบกันอย่างดุเดือด เป็นเวลายาวนานถึง ๑๘ วันเต็มๆต้องเสียไพร่พลกันไปจำนวนมหาศาล แต่ในที่สุดฝ่ายธรรมมะ คือ ฝ่ายพี่น้องปาณฑพ ก็เป็นผู้ชนะสงคราม
ประวัติ
ภีษมะ หรือ คานตนพ หรือ คางเคยะ บุตร ของ คานตนุ กับ พระแม่คงคา เรื่องราวของ ภีษมะ มีดังนี้
          มีเทวดาในกลุ่มคณะวสุคณะ อยู่ ๘ องค์ วันหนึ่งได้พาภริยาไปเที่ยวเพื่อชื่นชมธรรมชาติให้เพลิดเพลิน แถวเขาพระสุเมรุ ซึ่งใกล้ๆบริเวณนั้นเป็นอาศรมของ ฤาษีวสิษฐ์ ซึ่งท่านได้เลี้ยงแม่วัวกับลูกไว้ แม่วัวชื่อ นันทินี เป็นแม่วัวที่ให้นมได้มากกว่าความต้องการของเจ้าของ และเมื่อใครได้ดื่มกินจะมีอายุยืนถึงพันปี เทวดาองค์หนึ่ง ชื่อ ทยุ เห็นแม่วัวแล้วอยากได้ จึงให้สามีตนไปขโมยฤาษีมาแต่ฤาษีจับได้จึงสาปให้เทวดาทั้ง ๘ ไปเกิดในโลกมนุยษ์และให้ ทยุ ผู้ริเริ่ม อยู่ในโลกมนุษย์นานที่สุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะสามารถอยู่ได้ ด้วยความกลัวเทวดาทั้ง ๘ จึงไปขอร้องพระแม่คงคาให้รับตนไว้เป็นลูกเมื่อตนมาเกิดบนโลกมนุษย์ และเมื่อเกิดมาให้โนตนลงในน้ำทันที ด้วยความสงสารพระแม่คงคาจึงรับปากเอาไว้
          มีกษัตริย์แห่งนครหัสตินาปุระ ชื่อ ประตีปะ เป็นกษัตริย์ที่ปฏิบัติตนอยู่ในครรลองของศาสนาเป็นอย่างดี วันหนึ่งได้เดินทางไปแถวแม่น้ำคงคาและได้พบพระแม่คงคา สัญญากันว่าเมื่อตนเองมีลูกจะให้แต่งงานกับพระแม่คงคาซึ่งแปลงร่างเป็นหญิงสาวรูปงาม วันเวลาผ่านไปเมื่อกษัตริย์ประตีปะ ก็มีพระโอรส นามว่า ศานตนุ เมื่อศาตนุเติบใหญ่และพระบิดาสิ้นพระชนย์ พระองค์จึงได้ขึ้นครองราช และได้แต่งงานกับพระแม่คงคาตามที่บิดาของตนเคยได้กล่าวไว้ ก่อนแต่ง พระแม่คงคาขอให้พระราชาศานตนุทำตามที่ตนต้องการ คือการไม่ขัดใจไม่ว่าตนจะทำอะไร พอแต่งงานและมีลูก นางก็โยนลูกตนเองลงน้ำถึง ๗ คน คนที ๘ พระราชาศานตนุไม่ยอม นางจึงบอกว่าพระองค์ผิดคำสัญญาและเล่าความจริงให้ฟังจึงอันตรธานหายไปพร้อมกับลูกคนที่ ๘ และทิ้งความงงงันให้แก่ราชาศานตนุ วันหนึ่งพระองค์เดินทางไปแถวแม่น้ำคงคา และที่นี้เองที่พระองค์ได้พบ กับลูกตนเองคือ คางเคยะหรือ ศานตนพลูกคนที่ ๘ ของตน เมื่อได้คุยกับพระแม่คงคาและทราบความจริงพระองค์จึงพาพระโอรสกลับพระนคร
          เมื่อราชาศานตนุมีอายุมากขึ้น และรู้สึกปลง คิดจะให้พระโอรสขึ้นครองราชย์และตนเองคิดจะออกเดินทางเข้าป่าตามธรรมเนียมกษัตริย์ ระหว่างที่คิดจะออกเดินทางหาความสงบนั้นเองที่พระองค์ได้พบกับนางสัตยวดี ซึ่งทำให้พระองค์รู้สึกหลงรักในความงามของนางเป็นอย่างมากถึงขั้นชวนไปอยู่ในวังด้วย แต่มีข้อแม่จากชาวประมงผู้เป็นพ่อว่าหากพระโอรสระหว่างพระองค์กับลูกตนออกมาจะต้องได้ขึ้นครองราชย์ จึงสร้างความหนักใจให้ราชาศานตนุเป็นอย่างมากจนล้มป่วย เมื่อศานตนพรู้ข่าวและรู้ความจริง จึงจัดพิธีแต่งงานให้กับราชาศานตนุสมความตั้งใจ และบอกว่าตนจะไม่ขึ้นครองราชย์ ด้วยเหตุนี้ก็มีเสียงจากฝากฟ้า ดังลงมา ว่า ภีษมะ ซึ่งแปลว่า ฉกาจฉกรรจ์ และเป็นฉายาของศานตนพตั้งแต่นั้นมา
          ราชาศานตนุ กับนาง สัตวดี เมื่อแต่งงานก็มีลูกด้วยกัน สองคน คือ จิตราคทะและวิจิตรวีระยะ เมื่อราชาศานตนุสิ้นพระชนย์ จิตราคทะก็ครองราชย์แทน ครองราชย์ได้ไม่นานก็ไม่สู้รบกับคนธรรพ์จนสิ้นพระชนย์ไปอีกคน วิจิตรวีระยะจึงขึ้นครองราชย์แทนพระเชษฐาแต่ด้วยอายุยังน้อย ท้าวภีษมะจึงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนก่อนจนกว่าพระองค์จะมีพระชนย์มายุมากพอที่จะปกครองบ้านเมือง
          ต่อมา แคว้น กาศีจัดพิธีสยุมพรหรือการเลือกคู่ ของธิดาทั้งสามองค์คือ อัพพา อัพพิกา และ อัพพาลิกา ท้าวภีษมะต้องการได้ธิดาทั้งสามคนมาเป็นมเหสีของน้องตนเอง คือ จิตรวีรยะ แต่เมื่อไปทำการเจราจฝ่ายกาศีไม่ยอม จึงเกิดการสู้รบกันขึ้น ฝ่ายภีษมะเป็นผู้ชนะจึงนำธิดาทั้งสามกลับเมืองตนแต่ปล่อยนางอัพพาไปเพราะหมั้นหมายกับราชาศาละไว้แล้ว แต่พอกลับไปก็ถูกปฏิเสธนางจึงแค้นภีษมะมาก จึงออกบำเพ็ฐเพียรและขอพรจากพระศิวะให้ตนเกิดเป็นลูกของเท้าทรุปัท ชื่อ ศิขิณทิน ซึ่งต่อมาเป็นต้นเหตุการตายของภีษมะ  
          ราชาวิจิตรวีรยะ เมื่อได้อภิเษกกับพระธิดาทั้งสองก็หมกหมุ่นกับกามอารมณ์มากเกินไปทำให้สิ้นพระชนย์ขณะเสวยสุขกับภริยา ซึ่งยังไม่มีผู้สืบราชสมบัติแทนเพราะยังไม่มีบุตรเลยสักคน ทำให้นางสัตยวดีคิดมากเรื่องการสืบราชสมบัติ จึงให้ภีษมะทำนิโยคกับพระธิดาทั้งสองแต่ภีษมะทำไม่ได้เพราะเคยสัญญาไว้กับเหล่าเทวดา นางจึงคิดถึงลูกชายคนโต คือ กฤษณะ ไทวปายนะ วยาส พอกฤษณะทำนิโยคกับธิดาทั้งสอง คือ อัพพิกา เมื่อคลอดบุตรออกมา ก็ตาบอดทั้งสองข้าง เพราะนางหลับตาตลอดเวลาขณะทำนิโยค เพราะความรังเกียจ สะอิดสะเอียน กฤษณะฤาษี ชื่อ ธฤตราษฏร์ ชนกของ กษัตริย์เการพทั้ง ๑๐๐ นั่งเอง ส่วน นางอัพพาลิกา เมื่อปฏิบัตินิโยคก็ประหวั่นพรั่นพึง จนตัวซีดขาว ลูกออกมาจึงตัวซีดขาวด้วย ชื่อว่า ปาณฑุ แปลว่า ขาวซีด และเป็นที่มาของ กษัตริย์ปาณฑพทั้ง ๕
          เมื่อนางสัตยวดีเห็นสภาพหลานทั้งสองที่ไม่เป็นปกติ จึงขอให้นางอัพพิกาทำนิโยคอีกครั้ง แต่นางให้คนใช้เข้าไปทำแทน เมื่อคลอดบุตรออกมา ชื่อ วิทูร เป็นผู้มีปัญญาล้ำเลิศและเปี่ยมด้วยความเที่ยงธรรม จึงได้สมญาว่า มหามติ แต่ด้วยเหตุที่ ธฤตราษฏร์ตาบอด และวิทูรไม่ใช่หน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ ปาณฑุจึงได้ขึ้นครองราชย์
          ต่อมาภีษมะหาคู่ครองให้ทั้งสอง ธฤตราษฏร์ อภิเษกกับ เจ้าหญิงคานธารี ธิดาของท้าวสุพล แห่งนครคันธาระ ส่วนปาณฑุอภิเษกกับเจ้าหญิงกุนตีธิดาของราชาศูระกษัตริย์เชื้อสายยาทพ เจ้าหญิงกุนตีเป็นกนิษฐภคินีของท้าววสุเทพผู้เป็นชนกของพระกฤษณะ
          ท้าวธฤตราษฏร์ แต่งงานกับ เจ้าหญิงคานธานรี มีลูกด้วยกัน ๑๐๑ พระองค์ เป็นพระราชโอรส ๑๐๐ คน และพระธิดา ๑ คน พี่ชายคนโต ชื่อ ทุรโยชน์ ซึ่งต่อมาเป็นศัตรูกับ ฝ่ายพี่น้องปาณฑพ
          ราชาปาณฑุ แต่งงานกับเจ้าหญิงกุนตีและพระนางมาทรี แต่ด้วยพระองค์ไปยิงพราหมณ์ที่แปลงร่างมาเป็นกวางซึ่งกำลังเสพสุขกันอยู่ จนตาย จึงถูกสาปแช่งให้ไม่สามารถมีลูกและเสพสุขกับภรรยาตนเองได้ ถ้าฝืนก็จะทำให้สินพระชนย์ทันที่ นางกุนตีมีพรที่ได้จากพราหมณ์ผู้หนึ่งให้สามารถมีลูกกับเทพได้ นางจึงขอพรและได้ลูกด้วยกันสามคน คือ ยุธิษฐิระ ภีมะ อรชุน  สหเทพ และนกุล
จุดเริ่มต้นของสงคราม

          เกิดจากความโลภ อิจฉา ริษยาของทุรโยชน์ โดยทำแผนการต่างที่จะกำจัด พี่น้องตระกูลปาณฑพ ให้หมดสิ้นไปจงได้ เช่น วางแผนให้พี่น้องปาณฑพไปเที่ยวต่างเมือง แล้วให้อำมาตย์ไปเผาบ้านที่พัก หรือการเล่นสกาโดยใช้กลโกงต่างๆ จนทำให้ฝ่ายปาณฑพ เสียเมือง เสียทุกสิ่งทุกอย่าง จนได้ออกเดินทางจากพระนคร ไปอยู่ป่าเป็นนักบวช ถึง ๑๓ ปี 

วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2560

พลังมด นิทานเด็กๆ


พลังมด


ณ ป่ากว้างใหญ่ ใต้ร่มเงาไพร
ศูนย์รวมจิตใจ ของเหล่ามดน้อย

ณ อาณาจักรมด

นี่คืออาณาจักรของข้า ใต้ร่มเงาป่าข้าอาศัยอยู่
เรามีกำลังแบ่งเป็นหมวดหมู่ ทุกตัวนั้นรู้หน้าที่ของตน
ข้าคือ มดงาน เชี่ยวชาญหาเหยื่อ จิตใจเอื้อเฟื้อข้าคือมดงาน
ข้าคือมดทหาร กล้าหาญชาญชัย ศัตรูน้อยใหญ่ให้ความยำเกรง
ข้าคือราชินี ผู้สร้างชีวิต เชื่อมสายใยติดเป็นหนึ่งเดียวกัน
เราคือครอบครัว ทุกตัวน้องพี่ มอบแต่ไมตรีไม่ระรานใคร
อยู่มาวันหนึ่ง ก้อนเมฆกลุ่มใหญ่ พัดผ่านมาใกล้ สีดำทะมึน
เสียงฟ้าร้องครืน หึ้ม หึ้ม หึ้ม หึ้ม ก้องไปทั่วป่า
พร้อมเสียงสายฟ้า ผ่าลงกลางไพร
เปรี้ยง ป้าง เปรี้ยง ป้าง ดังมาแต่ไกล บอกเมฆก้อนใหญ่ หลั่งสายฝนพรำ
หยาดฝนหล่นริน สู่ดินเป็นสาย จากเม็ดกลับกลาย เป็นสายน้ำใหม่
สายน้ำใหม่นี้ ช่างร้ายเหลือใจ ซัดดินผืนใหญ่ ให้ขาดสะบั้น
สายน้ำคั้นกลางระหว่างแผ่นดิน ปิดทางเดินสิ้น ที่อยู่อาศัย
หลายวันต่อมา
หลายวันให้หลัง ความหวังหมดไป พวกมดน้อยใหญ่ จิตใจกังวล
เพราะว่าอาหารนั้นเริ่มขัดสน จากนี้ไม่พ้น สี่วันอันตราย
ฝูงมดจึงต้องร่วมกันอภิปราย มดแต่ละฝ่าย ให้ความคิดเห็น
สักครู่ไม่นาน จึงได้ชัดเจน เราไม่อาจเว้น เส้นทางนี้ได้
ดังนั้นเราต้องข้ามฝั่งนี้ไป พบแผ่นดินใหม่ เริ่มใช้ชีวิต

มดงานและมดทหารแข็งขัน จับกันเป็นสาย ร่วม ร่วม ร้อยนายกลายเป็นสะพาน
ฝูงมดตัวน้อยใช้เวลาไม่นาน พากันเดินผ่าน สะพานนั้นไป

ฝ่ายราชินี ข้ามมาถึงที่ ยกย่องความดี ให้ลูกของตน
เห็นไหมน้ำใจอันใสไหลล้น เพราะเจ้าทุกคน อดทนทำดี
ขอบคุณพี่มด ทั้งพี่มดงาน พี่มดทหาร ที่เสียสละ
เราคือครอบครัว เราคือสายใย เรื่องแค่นี้ไซร้ ไม่ใช่อุปสรรค
หลังจากขึ้นฝั่ง เรานั่งหยุดพัก ตั้งต้นปักหลัก บ้านรักครั้งใหม่







5 เรื่องที่คุณไม่เคยรู้มาก่อน

  นี้ก็เป็น ep.2 สำหรับคลิปที่น่าสนใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์รอบตัวเรา คุณเคยรู้ไหมว่าขนของเราส่วนไหนแข็งที่สุด ถ้าอยากรู้ก็เข้าไปดูกันนะครับ ช่...