แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ วิจารณ์สารคดี แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ วิจารณ์สารคดี แสดงบทความทั้งหมด

วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

สะพานไผ่เหนือสายน้ำเชี่ยว

สะพานไผ่เหนือสายน้ำเชี่ยว
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

          "แม้แต่บนเส้นทางไปสู่การพ่ายแพ้ ก็ยังมีสิ่งที่เราต้องเอาชนะ"
ข้อความข้างต้นคือบางตอนในบทประพันธ์ ของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตผู้นำขบวนนักศึกษาโค่นระบอบเผด็จการทางทหารเมื่อปี ๒๕๑๖ งานเขียนชุดนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นช่วงหนึ่งของชีวิต เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่ต้องการฟันฝ่าอุปสรรคสู่อุดมการณ์อันแรงกล้า เพื่อปฏิวัติแผ่นดินเกิด ให้ระบบเผด็จการนั้นสิ้นไป แต่ในความเป็นจริงไม่ง่ายอย่างที่คิดด้วยความผกผันทางการเมืองและด้วยอำนาจเผด็จการของรัฐบาลในช่วงนั้นทำให้ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล กลายเป็นคนนอกสังคมอย่างรวดเร็ว ด้วยอำนาจเผด็จการอันร้อนแรง เสกสรรค์ ประเสริฐกุลจึงตัดสินใจเข้าร่วมกองกำลังติดอาวุธปฏิวัติภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทำให้ ต้องย้ายถิ่นฐานเพื่อเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในป่า ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นและจุดจบของเรื่องนี้
          " สะพานไผ่เหนือสายน้ำเชี่ยว " เป็นเรื่องราวชีวิตของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ภายหลังจากตัดสินใจเข้าร่วมกองกำลังติดอาวุธปฏิวัติภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งเขาคิดว่าจะเป็นวิธีที่ยกระดับการการเมืองการปกครองของไทยให้กลับไปสู่สังคมประชาธิปไตย และลบล้างระบอบเผด็จการให้สูญสิ้นจากประเทศ แต่การเดินทางตามหาอุดมการณ์ในครั้งนี้กลับไม่แน่นอนอย่างที่คิด กองกำลังติดอาวุธปฏิวิติภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยไม่ได้จัดขึ้นเพื่อประเทศไทยอย่างแท้จริง การจะอยู่ที่นี้ไม่ใช่แนวทางที่จะทำให้ประเทศไทยกลับมาสันติอย่างแน่นอน และด้วยวิธีการคิดที่ผิดแปลกของผู้นำพรรคทำให้ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เกิดความลังเลใจ และเริ่มท้อกับสิ่งที่ตนกำลังเผชิญอยู่ ด้วยแนวคิดที่ไปกันไม่ได้ เสกสรรค์ ประเสริฐกุลและภรรยาจึงตัดสิ้นใจออกจากป่า เพื่อกลับมามอบตัวกับฝ่ายรัฐบาล แต่ระหว่างทางที่จะไปรับความผ่ายแพ้นั้นก็ไม่ง่าย พวกเขาต้องผ่านทั้งพายุ เมฆฝน และสายน้ำเชี่ยวที่พร้อมจะกลืนกินชีวิตทุกคนที่ตกลงไป เช่นดังข้อความที่กล่าวไว้ในข้างต้นว่า "แม้แต่บนเส้นทางไปสู่การพ่ายแพ้ ก็ยังมีสิ่งที่เราต้องเอาชนะ" เส้นทางแห่งความพ่ายแพ้นี้ช่างสร้างบาดแผลให้เขามากมายเหลือเกิน ไม่ใช่ที่ร่างกายแต่เป็นที่ " จิตใจ "
          เสกสรรค์ ประเสริฐกุลในฐานะนักเขียน สามารถถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้สึกของเขาผ่านตัวอักษรได้อย่างมั่นคงและเข้าถึงใจผู้อ่านด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายและน้ำเสียงที่ใสซื่อ เช่น " ไม่รู้อีกนานเท่าไหร่ที่ผมจะถูกตรึงไว้ริมสายธารความทรงจำซึ่งน่าสะพรึงกลัวเสียยิ่งกว่าสายน้ำเชี่ยวในลำห้วยขาแข้ง รู้เพียงว่า ณ ที่แห่งนั้น ผมอาจต้องดิ้นร้นสร้างสะพานอยู่โดยลำพัง " ข้อความข้างต้นนี้สื่อสารถึงส่วนลึกที่ยังตรึงอยู่ในจิตใจของเสกสรรค์ ประเสริฐกุลได้เป็นอย่างดี แม้ทุกอย่างจะผ่านเลยไปแต่สิ่งที่จะยังอยู่กับเขาไม่จางหายคือความทรงจำ ซึ่งมันจะสร้างความเจ็บปวดให้เขาไม่มีวันหาย การสื่อสารที่จริงใจและเรียบง่ายทำให้ผู้อ่านเข้าถึงเรื่องราวได้เป็นอย่างดี
          สะพานไผ่เหนือสายน้ำเชี่ยว นอกจากจะทำให้ผู้อ่านรู้จัก เสกสรรค์ ประเสริฐกุลมากขึ้นแล้วสิ่งที่ตกตะกอนภายในใจผู้อ่านที่แฝงมากับเนื้อเรื่อง คือข้อคิดที่ได้ ซึ่งมีส่วนสำคัญที่นำพาให้เราได้ขบคิดไปตาม เช่น การยอมรับความเป็นจริง ถึงแม้สิ่งนั้นจะทำให้ปวดร้าว การยอมรับความพ่ายแพ้หรือความเป็นจริงนั้นทุกคนต้องทำให้ได้ ไม่อย่างนั้นเราจะตกอยู่ภายใต้กำแพงซึ่งเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นเพื่อลบล้างความเจ็บปวดของบาดแผลนั้น สิ่งที่พึ่งทำคือยอมรับและทำในสิ่งที่เป็นจริงและดีงามไม่จมอยู่กับอดีตหรือความหลังที่เรากลับไปแก้ไขไม่ได้แล้ว หากจะมีก็เพียงอนาคตข้างหน้าที่ยื่นเส้นทางมารอให้ก้าวเดินไปอย่างมั่นคง นอกจากนี้ก็มีเรื่องเงินปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตในปัจจุบันนี้ ซึ่งคงไม่มีใครกล้าปฏิเสธ แต่เงินก็ไม่สามารถซื้อทุกสิ่งทุกอย่างได้ เงินไม่สามารถซื้อเวลาให้ย้อนกลับมาได้ ไม่สามารถซื้อใจคนให้เปลี่ยนแปลงได้ เงินซื้อชีวิตของคนให้กลับฟื้นคืนไม่ได้ มีแต่ใจเท่านั้นที่ซื้อทุกอย่างได้ เพราะไม่ว่าอะไรที่ผ่านเข้ามาในความทรงจำ ความเจ็บปวด  ความรัก ครอบครัว เพื่อน มันจะยังตราตรึงอยู่ในใจ ในความทรงจำของเราไม่รู้คลาย ปัจจัยจึงไม่ใช่ความสุขที่ยั้งยืนและคงทนเช่นความสุขอันเกิดที่ใจ
          วรรณกรรมหนึ่งเรื่อง ใช้ตัวอักษรจำนวนไม่น้อยในการถักร้อยเรื่องราว การใช้เวลากับตัวอักษรหรือหนังสือนั้นก็เหมือนได้เรียนรู้ชีวิตของผู้เขียนในอีกแง่มุมหนึ่ง ซึ่งบางครั้งเราไม่ทันได้สังเกต มุมมองเล็กๆที่สามารถเปลี่ยนชีวิตใครบ้างคนได้ หรืออาจจะเป็นบทเรียนสำหรับผู้เคยผ่านพบเรื่องราวคล้ายๆกันหรือผู้ฝักใฝ่ให้ปรับตัวได้อย่างเหมาะสม " สะพานไผ่เหนือสายน้ำเชี่ยว " ก็เป็นเรื่องราวชีวิตของคนๆหนึ่งที่มีบทบาทต่อสังคมไทยไม่น้อย การศึกษาชีวิตของเขาอาจทำให้เราเห็นมุมมองในการดำเนินชีวิตหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้อีกรูปแบบหนึ่ง ทั้งภาษาและอารมณ์ที่ถ่ายทอดผ่านตัวอักษรของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล คงจะทำให้ผู้อ่านได้รับความบันเทิง ความรู้และข้อคิดที่แฝงอยู่ไม่มากก็น้อย ซึ่งก็แล้วแต่มุมมองของใครของท่าน ผู้มีสายตาอันยาวไกลต่อไป



วันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

จดหมายจางวางหร่ำ

จดหมายจางวางหร่ำ

ฉบับที่ ๑
จางวางหร่ำ ถึง นายสนธิ์ บุตร ผู้ออกไปเรียนเป็นนักเรียนอยู่ประเทศอังกฤษ
ฉบับนี้ จางวางหร่ำเขียนถึงลูกชายที่จะไปเรียนต่างประเทศ เพื่อให้ลูกได้ไปร่ำเรียนเพียรศึกษาและกลับมามีอนาคตที่ดี ถึงแม้จะมีเสียงต่อว่าบ้างว่า พวกที่ไปเรียนเมืองนอกกลับมาแล้วจะเหลวไหลไม่เอาไหน ซึ่งทำให้จางวางหร่ำต้องอธิบายต่อว่า คนจะดีอยู่ที่ไหนก็เป็นคนดี ส่วนคนที่ไม่ดีอยู่ที่ไหนก็ไม่ดี ไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษา การศึกษามีแต่จะช่วยยกระดับชีวิตของทุกคน
ฉบับที่๒
จางวางหร่ำเขียนถึง นายสนธิ์ บุตร เมื่อได้เห็นใช้เงินฟุ่มเฟือยนัก
ฉบับนี้เขียนเกี่ยวกับการใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่ายของลูกชาย คือ นายสนธิ์ ว่าทำอะไรตามเพื่อนมากเกินไป ชอบทำอะไรตามแฟชั่น ควรประหยัดเงินค่าใช้จ่ายช่วยครอบครัว ถ้าหากเงินที่เสียไปมากๆ แล้วทำให้เรียนดีขึ้น พ่อจะไม่ต่อว่าเลย แต่มันเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม คือยังอยู่ที่เดิม การมีใจโอบอ้อมอารีเป็นสิ่งดีแต่เจ้าจงใช้เมื่อเจ้านั้นสามารถหาเงินใช้ได้เองก่อน ไม่ใช่ยังใช้เงินของคนอื่นอยู่ เพราะแต่ละบาทไม่ใช่จะหามาได้ง่ายๆ ตอนนี้เจ้ายังไม่รู้ค่าของมัน ขอให้เจ้าจงประหยัดค่าใช้จ่ายลงกว่านี้
ฉบับที่ ๓
จางวางหร่ำ เขียนถึง นายสนธิ์
ฉบับนี้ เขียนเกี่ยวกับวิชาที่ นายสนธิ์ จะไปเรียนต่อ แต่จางวางหร่ำไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าวิชาที่ลูกของตนเรียนมาก็สมควรแก่งานโรงสีแล้ว ถ้าเรียนสูงมาก ก็จะหัวสูงเกินงาน ไม่ใช่ว่าเรียนสูงไม่ดี แต่ที่ไปเรียนเราเรียนไปใช้กับอาชีพอะไร เพราะเรารู้ในสิ่งที่จะทำแล้ว จึงไม่ต้องเรียนให้มากเกินความจำเป็น
ฉบับที ๔
ฉบับนี้เขียนถึงการเดินทางกลับของนายสนธิ์ ซึ่งได้เขียนจดหมายมาบอก นายจางวางหร่ำว่า จะขออ้อมมาทาง อเมริกาและญี่ปุ่น เพื่อเป็นการศึกษาบ้านเมืองของพวกเขาและเป็นการศึกษาของตนอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ นายจางวางหร่ำไม่เห็นด้วย เพราะเห็นเป็นการสิ้นเปลืองเปล่าๆ ให้กลับทางเรือเมลล์ ทางสิงคโปร์ตามเดิม ถ้าไม่อย่างนั้นก็ให้นายสนธิ์หาทางกลับเอง โดยตนจะไม่ช่วยเรื่องค่าใช้จ่าย
ฉบับที่๕
ฉบับนี้เขียนเมื่อนายสนธิ์ กลับจากยุโรปและเข้าทำงานแล้ว แต่ นายจางวางหร่ำมีธุระต้องไปกรุงเทพ โดยนายสนธิ์เขียนจดหมายไปฟ้องพ่อของตนเรื่อง การทำงานของสมุห์แสง ว่าตนคงทำงานร่วมกับเขาหรืออยู่ใต้บังคับบัญชาสมุห์แสงไม่ได้ เมื่อนายจางวางหร่ำผู้เป็นบิดาเดินทางถึงกรุงเทพจึงมีจดหมายตอบมาถึงลูกของตนว่า คนเราจะอยู่ด้วยกันได้นั้นต้องรู้จักไว้เนื้อเชื่อใจกัน เป็นเด็กต้องฟังผู้ใหญ่ สิ่งที่เจ้าเขียนมาพ่อว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะพ่อทำงานกับสมุห์แสงมานานรู้ว่าเป็นคนอย่างไร คนเราจงเป็นผู้ฟังมากกว่าเป็นผู้พูด พ่อเชื่อว่าคำที่สมุห์แสงบอกกล่าวเจ้านั้นไม่ผิดแน่ ขอให้เจ้ามั่นใจ
ฉบับที่ ๖
ฉบับนี้ จางวางหร่ำเขียนถึงนายสนธิ์ลูกชาย เรื่องการแต่งงาน ว่า การแต่งงานนี้ต้องเกิดจากความรัก ไม่ใช่ความใคร่ การจะเป็นคู่สามีภรรยา จะต้องอยู่ด้วยกันด้วยความรักจริงๆ ไม่ใช่เรื่องหน้าตา หรือ เรื่องเพศ ถ้าได้ภรรยาที่ดีก็จะทำให้เราได้ดีไปด้วย ดังนั้นการเลือกคู่ครองควรเลือกให้ดี
ฉบับที่๗

ฉบับนี้นาย จางวางหร่ำ เขียนถึงนายสนธิ์ เรื่อง เงินหมื่นบาท เพราะมีคนถามมามากว่าจะเอาเงินส่วนนี้ไปใช้ทำอะไร เพื่อจะได้เป็นที่รู้กันว่า เงินหมื่นบาทที่แพร่ออกไปอย่างรวดเร็วจนรู้โดยทั่วกันนั้น นายจางวางหร่ำได้นำไปทำบุญแล้ว แต่ไม่ต้องการเอาหน้า ที่เขียนมาบอกในครั้งนี้ก็เพื่อจะให้เจ้าช่วยประกาศบอกให้ทราบโดยทั่วกัน จะได้ไม่มีคนมารบกวนตนเองอีก

วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2560

บทเรียนจากการล่มสลาย

บทเรียนจากการล่มสลาย

ผู้แต่ง : ก่อศักดิ์  ไชยรัศมีศักดิ์
เรื่องย่อ
               บทเรียนจากการล่มสลาย เป็นเรื่องราว เบื้องหลังการพังทลายของอาณาจักรที่เคยยิ่งใหญ่ในราชอาณาจักรจีน 3 อาณาจักร ประกอบด้วย อาณาจักรฉิน อาณาจักรฮั่น อาณาจักรถัง
               อาณาจักรฉิน เป็นอาราจักรแรกที่สามารถผนึกแผ่นดินจีนให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้จากเจ็ดแคว้น คือ แคว้นจ้าว แคว้นเว่ย แคว้นหาน แค้วนฉิน แคว้นฉู่ แคว้นฉี แคว้นเยียน อาณาจักฉินถือว่าเป็นอาณาจักรที่มีชื่อเสียงอย่างมากภายใต้การปกครองของ จิ๋นซีฮ่องเต้ ผู้สร้างกำแพงเมืองจีนและ พระราชวังเออฝางกง แต่ด้วยสิ่งมหัศจรรย์ทั้งสองอย่างนี้เองที่ทำให้อาณาจักรฉินต้องล่มสลาย เพราะการเกณฑ์แรงงานชายฉกรรจ์ไปสร้างทั้งสองสิ่งนี้ ทำให้ขาดแรงงานด้านการเกษตร เสบียงจึ่งไม่พอแจกจ่าย การเก็บภาษีที่แพงกว่าเดิม บทลงโทษที่เกินความจำเป็นรวมทั้งต้องสู้ศึกกับทั้งหกแคว้นที่ลุกขึ้นมาต่อต้าน ในที่สุดอาณาจักรฉินก็ล่มสลายภายในระยะเวลา 15 ปี
               อาณาจักรฮั่น เป็นอาณาจักรที่เจริญมั่นคงและแผ่อิทธิพลไปอย่างไฟศาล เป็นอาณาจักรทางฝั่งตะวันออกที่เจริญเทียบเท่าอาณาจักรโรมันโบราณ จึงเป็นที่เลื่องลือและจดจำของชาวจีนมาจนถึงปัจจุบัน อาณาจักรฮั่นแบ่งออกเป็นสองอาณาจัก คือ อาณาจักรฮั่นตะวันตกและอาณาจักรฮั่นตะวันออก  ที่แบ่งเป็นสองอาณาจักเพราะ อำนาจการปกครองจากราชวงศ์ขาดช่วงไปสิบกว่าปี  ส่วนสาเหตุที่ทำให้อาณาจักล่มสลาย เพราะ ความหลงระเริงกับความผาสุกของบ้านเมืองของพระเจ้าฮั่นเหอตี้ จนเกิดความชะล่าใจ  ปล่อยให้เครือญาติเข้ามาก้าวก่ายหน้าที่ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการช่วงชิงอำนาจ ระหว่างพระญาติและพวกขันที เหตุการณ์นี้ดำเนินไปนานถึงศตวรรษ ในที่สุดอาณาจักรฮั่นก็ล่มสลาย
               อาณาจักรถัง อาณาจักรถังเป็นอาราจักรที่เจริญรุ่งเรืองอีกยุคหนึ่งของจีน เพราะเป็นอาณาจักรที่นำแผ่นดินจีนก้าวสู่ความเกรียงไกรเป็นระยะเวลายาวนานเกือบสามศตวรรษ คนจีนยุคหลังจึงเรียกตัวเองว่าชาวถัง อย่างภาคภูมิใจ แต่แล้วก็ต้องล่มสลายลง เพราะจูเวินโค่นล้มราชวงศ์ถังด้วยการให้ถังอัยตี้สละราชสมบัติ และตั้งตนเองขึ้นปกครอง ขณะที่แม่ทัพอีกหลายคนเดินตามวิธีของจูเวิน ต่างตั้งอาณาจักรของตนขึ้นก้าวเข้าสู่ยุคห้าราชวงศ์สิบอาณาจักร สุดท้ายอาณาจักรถังก็ล่มสลายลงเพราะไฟแห่งสงคราม จากนั้นก็ร่วมเป็นหนึ่งอีกครั้ง เมื่อแม่ทัพอาณาจักรโฮ่วโจว นามว่าจ้าวควงอิ้น สถาปนาราชวงศ์ซ่ง ในปี ค..960
จุดประสงค์
               1.เพื่อทราบถึง ข้อเท็จจริง ความรู้ และเนื้อหาสาระ เกี่ยวกับอาณาจักรฉิน อาณาจักฮั่น อาณาจักถัง
               2. เพื่อทราบถึงองค์ประกอบของสารคดี
               3.เพื่อนำแนวคิดที่ได้มาปรับใช้กับตัวผู้อ่านหรือสังคมไทย 
วิธีการดำเนินเรื่อง
               บทเรียนจากการล่มสลาย แต่งโดย ก่อศักดิ์ ชัยรัศมีศักดิ์ จัดว่าเป็นสารคดีชีวประวัติ ซึ่งกล่าวถึงเรื่องราวอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ของจีนไว้สามอาณาจักร คือ อาณาจักรฉิน อาณาจักรฮั่น อาณาจักรถัง เป็นการกล่าวถึงการล่มสลายของทั้งสามอาณาจักรว่ามีที่มาจากอะไรบ้าง
               การดำเนินเรื่องใช้การบรรยายและพรรณนา เพราะหนังสือเล่มนี้มีรายละเอียดที่เป็นองค์ความรู้อยู่มากจึงต้องใช้การบรรยาย เช่น นักประวัติศาสตร์จีนแบ่งอาราจักรฮั่นออกเป็น 2 ช่วงเวลา ได้แก่ อาณาจักรฮั่นตะวันตกและฮั่นตะวันออก เนื่องจากอาณาจักรฮั่นเมื่อดำรงมาถึงปี ค.. 6 อำนาจการปกครองตกอยู่ในมือของหวางหม่าง ขุนนางกังฉินผู้มีอิทธิพล ซึ่งตั้งตนเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เป็นต้น การบรรยายจะทำให้เราเข้าใจรายละเอียดของเรื่อง และสาระความรู้ ส่วนการพรรณนาในเรื่อง เช่น ในที่สุดเพลิงแห่งหายนะที่คุกกรุ่นมานานก็ปะทุขึ้น ประกายไฟถูกจุดขึ้นโดยทหารชั้นผู้น้อยสองคน คือ เฉินเซิ่ง กับ อู๋กว่าง เป็นต้น การพรรณนาในเรื่องทำให้เห็นภาพของสงครามได้ชัดเจนขึ้นว่ามันมีความรุนแรงพร้อมที่จะเผาไหม้ทุกสิ่ง ดังเช่นที่เขาเปรียบสงครามว่าเป็นเพลิงแห่งหายนะ
               การใช้ภาษากระชับได้ใจความและใช้คำที่เรียบง่ายไม่ต้องตีความมาก เช่น อาณาจักรถังในตอนต้น กษัตริย์หลายพระองค์ทรงส่งเสริมสนับสนุนด้านศาสนา ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญอย่างหนึ่งในการพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองและสันติสุข เป็นต้น จากข้อความข้างต้นใช้คำอย่างเรียบง่ายแต่ทำให้เห็นภาพชัดเจน มีความกระชับและได้ใจความ




แนวคิด
               เป็นการตระหนักให้ผู้อ่านเห็น คุณค่าของหนังสือเล่มนี้ เข้าใจความเป็นไปของบ้านเมือง  ในช่วงเวลานั้นได้อย่างถ่องแท้ยิ่งขึ้น  และจะได้ช่วยป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของจีนมาซ้ำรอยในปัจจุบันที่ประเทศของเรา
               เช่น  อาณาจักรฉินพระเจ้าฉินสื่อหวงตี้ต้องการบังคับประชาชนให้ใช้มาตรฐานที่กำหนดขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อให้การรวมประเทศสมบูรณ์ จึงเลือกใช้วิธีค่อนข้างบีบคั้นและรุนแรงด้วยการประหารเหล่าปัญญาชนที่ต่อต้านคำสั่งของพระองค์และสานุศิษย์ขงจื๊อ นอกจากนั้นยังออกคำสั่งเผาหนังสือในความครอบครองของขุนนางและชาวบ้านซึ่งมิใช่มาตรฐานของพระองค์ทั้งหมด แล้วเร่งเผยแพร่มาตรฐานของแผ่นดินโดยเร็ว เป็นต้น
               อาณาจักรฮั่น เนื่องจากในช่วงต้นราชวงศ์ฮั่นได้มีการปูนบำเหน็จให้กับบรรดาขุนนางและเจ้านายเชื้อพระวงศ์จำนวนมาก ดังนั้นอำนาจของเจ้านายเหล่านี้จึงนับวันจะแกร่งกล้าขึ้น ในรัชสมัยจิ่งตี้จึงเกิดเหตุการณ์ กบฏ7แคว้นขึ้น หลังจากกบฏถูกปราบราบคาบลง อิทธิพลอำนาจของเหล่าขุนนางก็อ่อนโทรมลง อำนาจจากส่วนกลางเข้มแข็งขึ้น เป็นต้น
               จากเหตุการณ์ข้างต้นทำให้ผู้อ่านมีความคิดเห็นว่าการหลงระเริงในความสุข  ความร่มเย็นเป็นสุขของประชาชนและความสงบสุขของบ้านเมืองมากเกินไป  และประมาท ไว้ใจผู้คนมากเกินไป  จึงทำให้เกิดการช่วงชิงอำนาจ  ซึ่งผู้อ่านมีความคิดเห็นว่าการที่ผู้ที่ปกครองบ้านเมืองที่ดีควรเข้าใจถึงสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน มองอนาคตให้กว้าง ไม่มองเพียงอำนาจที่สามารถนำมาครอบครองได้แต่ไม่เกิดความคงทนถาวร การสร้างความกดดันให้ประชาชนจนประชาชนใต้ปกครองทนไม่ได้  ในที่สุดจึงเกิดการต่อต้านเกิดเป็นสงครามสร้างความเสียหายมากกว่าสิ่งที่จะได้ผลประโยชน์  ดังนั้นควรปรับเปลี่ยนวิธีการปกครองแบบประนีประนอมแต่ต้องมีความแข็งแกร่ง เพื่อที่จะได้พาบ้านเมืองก้าวสู่ความมั่นคงและเจริญรุ่งเรือง




ประโยชน์ของสารคดีเรื่องนี้
1.บทเรียนจากการล่มสลาย ทำให้เราทราบถึงประวัติศาสตร์ของประเทศจีน
2. ได้รับความรู้และเพลิดเพลินจากการอ่าน เพราะเนื้อหามีลักษณะคล้ายนิยาย มีโครงเรื่องค่อนข้างซับซ้อน และมีตัวละครเยอะ
3. สามารถนำแง่คิดจากความผิดพลาดในเรื่องมาปรับใช้กับสังคมไทย เพราะความผิดพลาดเป็นรากฐานแห่งความสำเร็จ
 คำคมในเรื่อง
ความล้มเหลว เป็นรากฐานแห่งความสำเร็จ



              




5 เรื่องที่คุณไม่เคยรู้มาก่อน

  นี้ก็เป็น ep.2 สำหรับคลิปที่น่าสนใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์รอบตัวเรา คุณเคยรู้ไหมว่าขนของเราส่วนไหนแข็งที่สุด ถ้าอยากรู้ก็เข้าไปดูกันนะครับ ช่...