แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ วิจารณ์เรื่องสั้น แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ วิจารณ์เรื่องสั้น แสดงบทความทั้งหมด

วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

สหายไฮยีน่า

สหายไฮยีน่า 

         มนุษย์อย่างเราในปัจจุบันอยู่ในสังคมอันเร่งร้อน บางครั้งความสามารถในการสังเกตจึงลดน้อยลงตามโลกาภิวัตน์ ตามสังคมที่ผันเปลี่ยนไป มนุษย์บางคนบ้างทำตัวเป็นสัตว์ที่กระหายเหยื่อภายใต้หน้ากากนักบุญ บ้างเป็นพ่อพระภายใต้หน้ากากอสรพิษ บ้างเป็นเพื่อนตายภายใต้หน้ากากไฮยีน่า มนุษย์ทุกวันนี้ต่างใส่หน้ากากปิดบังหัวโขนของตนเองทั้งสิ้น เพื่อปกปิดสิ่งที่ซ้อนเร้นภายในใจ ไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง ซึ่งยากที่จะทำความเข้าใจ อุเทน พรมแดง ในฐานะนักเขียน มองเห็นความสำคัญเรื่องเหล่านี้จึงหยิบยกเหตุการณ์ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวมาถ่ายทอดผ่านเรื่องสั้น เรื่อง ไฮยีน่า ซึ่งจะทำให้เห็นมุมมองของความจริงที่เกิดขึ้นอยู่ในสังคมของเราได้อีกทางหนึ่ง
    สหายไฮยีน่า หนึ่งในงานเขียนรวมเรื่องสั้น ชุด พระราชาไม่มีวันตาย ของอุเทน พรมแดง ที่จะทำให้เรามองเห็นหน้ากากของคนอื่นและคนใกล้ชิดใกล้ตัวมากขึ้น สหายไฮยีน่าเป็นเรื่องราวระหว่างเพื่อน เพื่อนผู้กลายร่างเป็นไฮยีน่า เพื่อนที่คอยสูบเลือดสูบเนื้อเพื่อนของตนเอง ผ่าตัวละครผู้เล่าเหตุการณ์คือ "เพื่อน"และยอดชาย สหายผู้กลายร่างเป็นไฮยีน่าในเวลาต่อมา ทั้งสองพบกันที่ร้านเหล้าแห่งหนึ่ง คุยกันถูกคอจนได้คบกันเป็นเพื่อน จน "เพื่อน"คิดว่ายอดชายน่าจะเป็นเพื่อนแท้ของตนได้ แต่เวลาผ่านไปกลับไม่เป็นเช่นนั้น ไม่รู้ด้วย สายฝน ลมแดดที่แผดเผ่า หรือ ฤทธิ์สุราที่ทำให้ยอดชายเปลี่ยนไป ภายใต้หน้ากากของคำว่าเพื่อนยอดชาย เริ่มกัดกินความไว้ใจของ "เพื่อน" ด้วยเหตุการณ์ต่างๆ เช่น ขโมยเงิน,ไม่มีเงินให้กินเหล้าก็กลับบ้าน เป็นต้น ด้วยพฤติกรรมเหล่านี้ทำให้สมชายเริ่มเผยร่างไฮยีน่าของตนเอง ปรากฏให้เพื่อนได้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ จนวันหนึ่งความเป็นเพื่อนทั้งสองจบลงด้วยกรงเล็บที่ยอดชายฝากไว้บนหน้า "เพื่อน" ทั้งที่มันเคยเป็นมือมนุษย์มาก่อน วันนี้นี้เองที่"เพื่อน"เห็นยอดชายกลายเป็นไฮยีน่าอย่างเต็มตัว หลังจากวันนั้นไฮยีน่าที่ทำร้ายเพื่อนของยอดชายก็ไม่มาปรากฏตัวที่บ้านของ "เพื่อน" อีกเลย
      สหายไฮยีน่าเป็นเรื่องสั้นหนึ่งเรื่องที่ดำเนินเรื่องอย่างเรียบง่าย ค่อยๆเผยเนื้อเรื่อง ทำให้ผู้อ่านอยากติดตาม ด้วยการใช้ภาษาอันเรียบง่าย เช่น "แม้ได้ชื่อว่าเป็นนักล่า ทว่าไฮยีน่าปราสจากศักดื์ศรี หลายหนมันเลือกรอจะแย่งเหยื่อที่มีผู้ตายอื่นห่าตายไว้แล้ว ยิ่งเหยื่อเน่าเหม็นเท่าไหร่ไฮยีน่ายิ่งชอบ" เป็นต้น แต่ด้วยวิธีดำเนินเรื่องเช่นนี้ ทำให้ผู้อ่านสามารถคาดเดาตอนจบได้อย่างง่ายได้ จึงอาจจะดึงความสนใจสำหรับนักอ่านได้น้อยลง ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวก็ตาม
     คงไม่มีใครปฏิเสธว่าการใส่หน้ากากเป็นเรื่องที่ยอดนิยมในสังคม การสังเกตและการปรับตัวในยุคนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ การมองคนต้องมองให้ลึกอย่างมองแค่ผิวเผิน เพราะภายใต้หน้ากากที่งดงามอาจจะมีกรงเล็บซ้อนอยู่ "เพื่อนๆอ่านแล้วเห็นเป็นอย่างไร"

วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

วิจารณ์ ญ่า อังคาร กัลยาณพงศ์

ค่าด้อยเพียงดิน

ญ่างานประพันธ์ของ อังคาร กัลยาณพงศ์ มีลักษณะการเล่าเรื่องคล้ายกับนิทานร้อยแก้ว ซึ่งเกิดจากจินตนาการและกระแสสำนึกในคุณค่าของโลกธรรมของผู้แต่งเองแม้ว่าจะมีการกล่าวเกินจริงและเสริมแต่งไปด้วยจินตนาการแต่ผู้อ่านสามารถรับรู้ได้ว่า เหตุการณ์ต่างๆในเรื่องเกิดขึ้นจริงในสังคมปัจจุบัน นิทานเรื่องญ่า จัดว่าเป็นนิทานชีวิตได้อย่างเหมาะสม เพราะนำเสนอคุณค่าของทุกชีวิต ไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์ หรือธรรมชาติต่างๆที่อยู่รอบตัวมนุษย์ บ่งบอกเวลาและสถานที่ชัดเจน มีตัวละครดำเนินเรื่อง ซึ่งผู้อ่านเชื่อว่าตัวละครญ่า ในเรื่องนี้เป็นตัวแทนของคนแก่ที่ถูกทอดทิ้งให้อยู่คนเดียว ไร้ลูกหลานคอยดูแล หรืออีกแง่หนึ่ง คือตัวแทนของกลุ่มชนรากหญ้า ไร้อำนาจวาสนา ถูกคนอื่นดูถูกเหยียดหยาม คล้ายกับหญ้าที่อยู่ต่ำติดดิน มีแต่คนเหยียบย่ำ น้อยคนนักที่จะเห็นความสำคัญของหญ้า ที่ช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับผืนดินที่ทุกคนใช้เดินกันอยู่ทุกวัน
เรื่อง ญ่า เปิดเรื่องด้วยการกล่าวถึง ช่วงเวลาและฤดูกาลหนึ่ง โดยใช้คำว่า สายัณต์หนึ่งในวสันตฤดูฝนหายพรายเมฆขาวสะอาด  และกล่าวถึงฉากและสถานที่ ที่เป็นฉากหลังในเรื่องนี้ เป็นชนบทเปล่าเปลี่ยวห่างไกลจากตัวเมืองเป็นการเกริ่นนำเข้าสู่เนื้อเรื่องด้วยการใช้คำง่ายๆ แต่ผู้แต่งก็เลือกสรรคำได้อย่างเหมาะสมกัน ใช้สำนวนได้สละสลวย ชวนอ่าน และเห็นภาพในเวลานั้นได้อย่างชัดเจน ให้ความรู้สึกที่โดดเดี่ยว ถูกทอดทิ้งไว้กลางป่าเขา และฉากธรรมชาติที่ให้ความสมจริงของเรื่องนี้
ผู้แต่งกำหนดให้ตัวละครหญิงชราอายุแปดสิบเศษที่ต้องอาศัยอยู่ห่างไกลจากตัวเมือง เป็นตัวดำเนินเรื่อง โดยให้มีความสัมพันธ์กับเหล่าพืชผักนานาชนิดมีการวางโครงเรื่องไม่ซับซ้อนคือนำเสนอเรื่องไปเรื่อยจนจบอย่างไม่ทิ้งปมปัญหาไว้เรื่องเริ่มต้นตั้งแต่ ญ่าหายป่วยแล้วอยากกินข้าวกับแกงเลียง จึงได้ออกไปเก็บยอดผักหญ้ามาทำเป็นอาหาร จนได้พบกับความอัศจรรย์ใจที่พืชผักสามารถพูดจาสื่อสารกับนางได้ และได้เปลี่ยนความรู้สึกเป็นความซาบซึ้งในคุณความดีของพืชผักเหล่านั้น แต่สุดท้ายญ่าก็บังเอิญถูกงูฉกตาย ทำให้พืชผักร่ำไห้คร่ำครวญ เสียใจกับการจากไปของญ่าผู้แต่งได้ใช้คำบ่งสถานการณ์ว่า อยู่มาวันหนึ่ง เพิ่งหายไข้,  ขณะนี้หญิงชราล้มเจ็บป่วย,บังเอิญถึงคราวเคราะห์ร้ายช่วยให้โครงเรื่องถูกนำเสนอไปอย่างต่อเนื่องและนำไปสู่จุดจบอย่างรวดเร็ว
เรื่องนี้ใช้ภาพพจน์บุคลาธิษฐานในการดำเนินเรื่องทั้งเรื่อง คือการกำหนดให้สิ่งที่ไม่มีชีวิตให้มีชีวิต ยิ่งเป็นการเสริมให้ร้อยแก้วเรื่องนี้มีลักษณะเป็นนิทานมากขึ้นเพราะนิทานคือการแต่งขึ้นมาจากจินตนาการให้สิ่งที่ไม่มีชีวิตสามารถพูดได้อยู่แล้ว โดยการสร้างให้เหล่าพืชผักสามารถพูดจาสื่อสารกับญ่าได้ เพราะ ได้รับพรวิเศษจากเทพเจ้า เพื่อให้ผู้อ่านไม่เกิดความสงสัยและมองข้ามไปว่าเหตุใดพืชผักถึงพูดได้และให้ผู้อ่านมุ่งสนใจไปที่แก่นของเรื่องที่ผู้แต่งกำหนดไว้ภายในนิทานเรื่องนี้ เช่นตอนที่ ญ่าสนทนากับยอดตำลึงญ่าเก็บฉันก่อนเถอะ เถานั้นเป็นน้องสาว รอไว้พรุ่งนี้ บางทีเธออาจจะมีเรื่องสนทนาปราศรัยกะญ่าบ้างก็ได้ยอดกระถินถามนางบ้างว่า ญ่ามีข้าวสารหรือเปล่าถ้อยคำเหล่านี้มีความเหมาะสมกับบริบทสภาพแวดล้อม ดูไม่เป็นการจงใจให้เกิดขึ้น เพราะประโยคสนทนาเหมือนกับว่ามนุษย์กำลังสนทนากันเอง เพื่อให้ความรู้สึกว่า พืชผักก็มีชีวิต มีความรู้สึกเช่นเดียวกับมนุษย์

นิทานร้อยแก้วเรื่องนี้จะมีลักษณะคำประพันธ์คล้ายร่ายกลายๆ คือไม่มีเครื่องหมายคำพูดในบทสนทนาและมีการเลือกสรรคำให้ผิดแปลกไปจากภาษาเขียนและภาษาพูดเช่น พิศวงงงงวยสนทนาปราศรัย เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ วิเวกวังเวง ตระหนี่ถี่เหนียว อุปนิสัยใจคอ  เป็นต้น ซึ่งถือว่ามีความโดดเด่นด้านการใช้คำซ้อน ช่วยเสริมให้เนื้อเรื่องและตัวละครเด่นชัดยิ่งขึ้น เป็นงานเขียนที่แปลกใหม่และสร้างความสนใจดึงดูดแก่ผู้อ่านเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้แล้ว ถ้อยคำสำนวนที่ผู้แต่งคัดสรรมาเรียบเรียงนั้น ได้สอดแทรกความคิดของตนเองเข้าไปแทนตัวละคร ทำให้ตัวละครไม่ได้มีความคิดอย่างอิสระ เห็นได้จากการบรรยายความรู้สึกของตัวละคร ที่ว่า งูกัดซ้ำเข้าที่มือจึงรู้สึกตัวว่าถูกงูกัด ก็พลันตกใจสิ้นสติ เป็นลมล้มลงขอบสระนั้น มินานนักฤทธิ์อันร้ายแรงของอสรพิษ ก็ทวนกระแสโลหิตในวัยชราอันมีกำลังต้านทานน้อยเหลือเกิน เร่งฝ่ากระแสโลหิตเข้าสู่ห้องหัวใจ ดับแรงเต้นของชีพจรให้วอดวายลง หญิงชราก็สิ้นลม แต่ตานั้นลืมโพรงราวจะเป็นห่วงถึงผักหญ้าพฤกษาลดามาลย์ เสมือนมิตรสหายอันยากจะหาใครมาเทียบเทียมได้
โดยพิจารณาจากประโยค อันมีกำลังต้านทานน้อยเหลือเกิน จริงอยู่ที่ว่า วัยชราย่อมมีพละกำลังต้านทานพิษงูน้อยกว่าวันหนุ่มสาว ยิ่งผู้แต่งตั้งใจใช้คำว่า น้อยเหลือเกิน แสดงให้เห็นถึงอารมณ์อ่อนไหวคล้อยตามตัวละครไป และตัวอย่างที่ชัดเจนว่า นิทานเรื่องนี้มีความคิดของผู้แต่งเข้าไปอย่างชัดเจน คือแต่ตานั้นลืมโพรงราวจะเป็นห่วงถึงผักหญ้าพฤกษาลดามาลย์เพราะตัวละครตายไปแล้ว ผู้แต่งจะรู้ซึ้งถึงความคิดของผู้ตายได้อย่างไร ว่ากำลังเป็นห่วงสิ่งใดอยู่ นอกจากผู้แต่งจะใส่ความคิดเห็นส่วนตัวลงไปเติมแต่งให้นิทานเรื่องนี้ดำเนินต่อไปถึงจุดจบ


ปล.แก้มย้วย













วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2559

วิจารณ์งานเขียน เรื่อง ญ่า ของ อังคาร กัลยาณพงศ์

ญ่า

          ญ่า งานประพันธ์ร้อยแก้วประเภทเรื่องสั้นของ อังคาร กัลยาณพงศ์  ซึ่งมีลีลาโวหารในการประพันธ์คล้ายกับนิทาน เล่าเรื่องผ่านจินตนาการและความสำนึกในคุณค่าแห่งโลกธรรมชาติของผู้เขียน เป็นเรื่องราวของ หญิงชรา เมื่อหายไข้ แล้วอยากกินข้าวกับแกงส้ม จึงออกจากกระท่อมไปเก็บผักมาทำแกงส้ม ระหว่างที่เก็บผักอยู่ก็เกิดความมหัศจรรย์ขึ้น คือ ผักสามารถพูดได้ และให้หญิงชราเก็บตนเพื่อไปทำแกงส้ม เมื่อหญิงชราได้พูดกับผักต่างๆ ทำให้รู้สึกทราบซึ้งถึงความดีงามของเหล่าพฤกษา แต่สุดท้ายหญิงชราก็ถูกงูกัดตาย ทำให้พฤกษาทั้งหลายร่ำไห้ และเสียใจ นานๆครั้งที่นักเขียนอย่าง อังคาร กัลยาณพงศ์ จะมาเขียนเรื่องสั้น จึงมีความน่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะภาษาที่เรียบง่ายและมีความสวยงาม และความแปลกใหม่ของวรรณกรรมเรื่องนี้
          เรื่องสั้นเรื่องนี้ เปิดเรื่อง  โดยกล่าวถึงเวลาและฤดูกาล "สายยัณห์หนึ่งในวสันตฤดู" และกล่าวถึง ฉากบรรยากาศที่เป็นชนบทอันห่างไกลจากตัวเมือง และ ความอ้างว้างเดียวดาย เป็นการนำสู่เรื่องราวโดยใช้ภาษาง่ายๆได้ดี จะเห็นถึงความอ้างว่างเดียวดายของหญิงชราและความเป็นธรรมชาติของฉาก ให้ความสมจริงในเรื่องฉากบรรยากาศถึงแม้จะมีเรื่องที่เป็นอัศจรรย์ใช้ในการดำเนินเรื่อง และด้วยเหตุที่เล่าเรื่องในรูปแบบนิทาน เมื่อผู้อ่านอ่านแล้วจึงเน้นไปที่ใจความสำคัญหรือแก่นเรื่องมากกว่า
          การดำเนินเรื่องใช้การพรรณนาถึงสิ่งที่ไม่มีชีวิตให้มีชีวิต หรือเรียกว่าบุคลาธิษฐาน เช่น ญ่าเก็บฉันก่อนเถอะ เถานั้นเป็นน้องสาว รอไว้พรุ่งนี้ บางที เธออาจจะมีเรื่องสนทนาปราศรัยกับญ่าบ้างก็ได้ เป็นต้น จากข้อความข้างต้นเป็นฉากที่เถาตำลึงพูดกับญ่าซึ่งกำลังมาเก็บผักเพื่อเอาไปทำแกงเลียงยอดผักหญ้า การดำเนินเรื่องเช่นนี้ทำให้เรื่องสั้นเรื่องนี้ มีรูปแบบของนิทานมากขึ้นหรืออาจจะกล่าวได้ว่าเป็นนิทานเรื่องหนึ่งที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิต ความโดดเด่นของเรื่องสั้นเรื่องนี้อาจเห็นได้แต่ ชื่อเรื่อง คือ ญ่า แทน ย่า ซึ่งเมื่อเราอ่านก็จะทำให้นึกถึงคำว่า หญ้า ซึ่งมีความหมายเปรียบว่าเป็นสิ่งต้อยต่ำไร้ค่า ไม่มีใครให้ความสนใจ สังคมมองข้าม แต่ว่าสิ่งที่ดูต้อยต่ำไรค่า ก็มีคุณค่าอันประเมินไม่ได้เช่นกัน การใช้น้ำเสียงผู้แต่งในเรื่องทำให้เรื่องราวมีอรรถรสมากขึ้น  เช่น หญิงชราตื้นตันใจจนน้ำตาพร่าพรายลงอาบแก้ม เป็นต้น หรือแม้แต่อารมณ์ของผักต่างๆที่ผู้แต่งใส่อารมณ์ของตัวเองเล่าเรื่อง แต่ก็ทำให้ผู้อ่านได้อารมณ์และเห็นภาพตามไปด้วย ด้วยงานเขียนที่เป็นเอกลักษณ์ของ อังคาร กัลยาณพงศ์ ถึงแม้จะเป็นเรื่องสั้นแต่ลักษณะคำประพันธ์ก็มีความคล้ายร่ายยาว เช่น หญิงชราร่างหง่อม อาศัยกระท่อมเก่าๆ กลางไร้ร่าง นางมีสีผมเหมือนสีหมอกดอกเลา ใบหน้านั้นย่นและเหี่ยวแห้ง เว้นแต่แววตายังวาว แต่ก็ราวกะเวลาเมื่อโพล้เพล้ เป็นต้น จากข้อความข้างต้นเราก็จะเห็นสัมผัสที่สอดร้อยกันอยู่หลายที่        เช่น หง่อม กระท่อม ร่าง นาง เป็นต้น   
          การใช้ภาษาที่เห็นได้ชัด คือ การใช้คำซ้อน เช่น สนทนาปราศรัย เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ วิเวกวังเวง เป็นต้น ซึ่งการใช้คำซ้อน ก็จะทำให้อารมณ์ของตัวละครหรือเนื้อเรื่องมีความเด่นชัดยิ่งขึ้น เกิดจินตภาพ และรู้สึกคล้อยตามได้ง่าย ทำให้เนื้อเรื่องดูมีความยิ่งใหญ่มากขึ้น ยิ่งข้อความที่มีสัมผัสแล้วยังซ้อนกันอีก อย่าง ไร้ญาติขาดมิตร ก็จะทำให้ได้อารมณ์ยิ่งขึ้นและมีความเป็นร่ายยิ่งขึ้นเช่นกัน แนวการประพันธ์ที่โดดเด่นและแปลกใหม่จึงเพิ่มความเร้าใจในงานประพันธ์ชิ้นนี้แก่ผู้อ่านได้ไม่น้อย
          นอกจากความงามในด้านต่างๆที่กล่าวมาแล้วแต่ข้างต้น ญ่า ยังแฝงแนวคิด เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ อีกมากมาย เช่น ความเชื่อที่ว่าทุกอย่างในโลกย่อมมีค่า ไม่ว่าสิ่งนั้นจะต่ำต้อยเพียงใด อาจมีคนมากมายมองบางอย่างว่าไร้ค่า แต่สำหรับบางคนอาจมองของสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่มีค่ามาก เช่น ญ่า ในเรื่อง ที่ทุกคนมองว่าไร้ค่า สังคมมองไม่เห็นซึ่งความคุณงามความดี แต่ก็มีเหล่าพฤกษาชาตินานานพันธุ์เห็น ญ่า ว่ามีคุณค่าควรแก่การให้การช่วยเหลือหรือได้รับการดูแล เป็นต้น ธรรมชาติของมนุษย์ถ้าให้อคติกับสิ่งนั้นสิ่งนี้ว่าไม่ดีแล้วยากนักที่จะปรับอคตินั้นให้ดีขึ้นได้ ส่วนมากจะชอบมองคนอื่นในสิ่งที่เขาไม่ดี ทั้งที่ตนก็อาจไม่ต่างจากเขาหรือดูแย่กว่ามากก็เป็นได้ คุณค่าอีกอย่างที่มีความสำคัญมากคือ การให้ความสำคัญกับธรรมชาติอันเป็นบ่อเกิดแห่งทุกชีวิต สิ่งที่อยู่รอบตัวเรา ภูเขา แม่น้ำ อากาศ พืชผักต่างๆ คือสิ่งที่ค่อยหล่อเลี้ยงชีวิตของเราเรื่อยมา เราไม่ควรมองข้ามสิ่งนี้ไปอย่างเช่นในปัจจุบัน ทั้งตัดไม้ทำลายป่า บุกรุกป่าไม้ การเผาป่า หรือการทำไร่เลื่อนลอยต่างๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้ธรรมชาติของโลกเสื่อมโทรมถือเป็นการลบหลู่สิ่งที่สร้างชีวิตของตน ทุกสิ่งในโลกล้วนมีคุณค่า หากเราจ้องแต่ทำลาย สักวันสิ่งนั้นก็จะกลับมาทำร้ายเรา ถึงอย่างนั้นก็ยังมีคนที่ไม่เข้าใจยังคงสร้างความเสียหายให้แก่ธรรมชาติอยู่ดี เพราะหลงในสิ่งที่เป็นอบายมุขอยู่ เปรียบได้กับ งูร้าย ที่ไม่เข้าใจเจตนาของหญิงชราที่ต้องการประกาศออกไปถึงสรรพคุณของผักต่างๆที่ทุกคนมองข้ามอยู่ ให้เห็นคุณค่า แต่คนจำพวกงูย่อมไม่รับรู้ จึงกัดหญิงชราจนตาย คนจำพวกนี้มีอยู่มากในสังคมปัจจุบัน ด้วยเหตุผลหลากหลายประการทำให้คนเราเห็นแก่ตัวมากขึ้นทุกวัน บางครั้งเราต้องมองโลกในมุมใหม่บ้าง อคติต่างๆ อาจลดน้อยลง คนเราไม่สามารถก้มหน้าได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว เวลาที่เราเงยหน้าควรใช้เวลานั้นมองดูโลกให้กว้างขึ้นกว่าทุกๆครั้งที่เราเงยหน้า มองด้วยความเข้าใจ มองให้เห็นคุณค่า เพราะทุกสิ่งที่ก่อเกิดเป็นมนุษย์จนถึงทุกวันนี้ก็คือธรรมชาติ ธรรมชาติคือทุกสิ่ง เมื่อเราเข้าใจธรรมชาติย่อมเข้าใจโลก อย่างเช่น ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่าว่า ธรรมชาติคือชีวิต ชีวิตคือธรรมชาติ ถ้าหากเราเข้าใจคงไม่ยากสำหรับการมีชีวิตที่ผาสุข
          ด้วยความเรียบง่ายของเนื้อหา คติธรรมที่แฝงอยู่ การคิดในรูปแบบใหม่ๆ การลำดับเรื่องตามเหตุการณ์ง่ายต่อการอ่านและทำความเข้าใจ งานเขียนของ อังคาร กัลยาณพงศ์ เรื่อง ญ่า เรื่องนี้ จึงเป็นเรื่องสั้นที่ทุกคนควรอ่าน อาจต้องตีความอยู่บ้าง แต่เมื่อท่านได้อ่าน จะทำให้มองเห็นคุณค่าสิ่งต่างๆที่เคยหลงลืม หรือไม่เคยคิดว่ามีความสำคัญเลยมีความสำคัญมากขึ้น เข้าใจคนอื่นมากขึ้น เข้าใจโลกมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละคนเช่นกัน เมื่อเราเข้าใจสิ่งนั้น เราย่อมเห็นค่าสิ่งนั้นด้วยเช่นกัน   

          

วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2559

วิจารณ์ เรื่อง คนดำน้ำ

คนดำน้ำ

          คนดำน้ำ หนึ่งในงานประพันธ์รวมเรื่องสั้นของ นิคม รายยวา เรื่อง คนบนต้นไม้ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับคนกลุ่มหนึ่ง ที่มีความคิด วิธีการ และความเชื่อมั่นในการประกอบอาชีพที่ต่างกัน ซึ่งผู้แต่งถ่ายทอดออกมาให้เห็นในรูปแบบของบทสนทนา พฤติกรรมที่ตัวละครแต่ละตัวได้แสดงออกที่เกิดในช่วง พ.. ๒๕๑๔ เป็นยุคที่สังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆในสังคม แล้วส่งผลกระทบต่อสังคมรากหญ้า ซึ่งตัวละครทั้งสี่เป็นสัญลักษณ์แทนอาชีพของคนที่อยู่ในยุคนั้น
          สังคมไทยในปัจจุบันหรือในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นสังคมเมืองหรือสังคมชนบท ต่างมีการประกอบอาชีพที่แตกต่างกันออกไป ในบางครั้งทางรัฐบาลหรือองค์กรของรัฐปฏิบัติหน้าที่ไม่เหมาะสม หรือให้การดูแลช่วยเหลือไม่ทั่วถึง ทำให้ประชาชนที่ประกอบอาชีพต่างๆ ขาดหลักประกันในชีวิต ส่งผลกระทบทุกชั้นชน  ดังเช่นในเรื่อง คนดำน้ำ ที่ฉากของเรื่องมีเพียงบึงเล็กๆ แต่เป็นที่ทำมาหากินของคนมากมายที่ต้องการทรัพยากรต่างๆบริเวณริมบึงแห่งนี้เพื่อการดำรงชีวิต โดยที่สังคมรอบข้างเป็นตึกสูง โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งในอนาคตบึ่งแห่งนี้อาจกลายเป็นโรงงานอุตสาหกรรมได้เช่นกัน จะเห็นได้จาก ตอนจบของเรื่องที่บรรยายถึงโรงงานอุตสาหกรรมที่กำลังสร้างเข้าใกล้มาถึงบึงแห่งนี้ แต่ถ้าหากตีความฉากของเรื่องในอีกรูปแบบหนึ่ง อาจหมายถึงสังคมชนบทที่ยังหลงเหลืออยู่ในกรุงเทพก็ได้ เพื่อให้กลุ่มชนได้ประกอบอาชีพที่ตนรัก
          เรื่องสั้นเรื่องนี้ ใช้บทสนทนาเป็นหลักในการดำเนินเรื่อง เพื่อให้เห็นพฤติกรรมของตัวละคร แนวคิด วิธีการต่างๆที่แต่ละคนแสดงออกทางความคิดในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งแต่ละคนก็เชื่อมั่นในสิ่งที่ตนทำอยู่ว่าจะเกิดประโยชน์ต่อตนเองสูงสุด  เช่น บทสนทนาของคนแทงฉมวกที่ว่า ของผมดีกว่า คนถือฉมวกพูด แม้วันนี้ยังไม่มีโอกาสแทง แต่ถ้าแทงไปเมื่อไหร่ กินไปได้หลายมื้อแน่ มากกว่าที่คุณทำมาทั้งวันเสียอีก เป็นต้น  จนบางครั้งก็ไม่ทราบว่าสิ่งที่ตนทำอยู่นั้นจะเกิดผลเมื่อไหร่ หรือบางคนมีอาชีพที่ทำแล้วเห็นผลทันที เช่น คนเลี้ยงผักบุ้ง แต่ก็ไม่สามารถทำให้ตนลืมตาอ้าปากได้เท่าที่ควร ยังเป็นอาชีพแบบหาเช้ากินค่ำไปวันๆ เป็นต้น คนเราแต่ละคนมีความคิดที่เป็นตัวของตัวเอง ในบางครั้งสิ่งที่เราคิดว่าดีอาจไม่ดีสำหรับคนอื่น การใช้ความคิดหรือการแสดงออกด้านต่างๆจึงไม่ควรให้กระทบต่อความคิดคนอื่นมากเกินไป
          ตัวละคร ในเรื่อง มีทั้งหมด สี่ตัว ประกอบด้วย คนเลี้ยงผักบุ้ง คนตกเบ็ด คนแทงฉมวกและคนดำน้ำ ตัวละครทั้งสี่เป็นสัญลักษณ์แทนการประกอบอาชีพต่างๆ ที่แต่ละคนก็ไม่อาจบอกได้ว่า อาชีพของใครจะดีกว่ากัน ซึ่งตัวละครแต่ละตัวอาจเป็นสัญลักษณ์แทนอาชีพต่างๆ ได้ดังนี้ คนเลี้ยงผักบุ้ง อาจเปรียบกับ อาชีพ ของชนชั้นกรรมมาชีพ ที่ต้องหาเช้ากินค่ำไปวันๆ เช่น เกษตรกร หรือการทำงานรับจ้างรายวันทั่วไปในปัจจุบัน ซึ่งถ้าทำทุกวันเราก็จะมีอยู่มีกินทุกวันแต่ถ้าวันไหน ไม่ได้ทำ อาจทำให้เกิดความขัดสนทางการเงิน เป็นอาชีพที่ไม่มั่นคง ต่อมาตัวละครอย่างคนตกเบ็ดอาจเปรียบได้กับอาชีพรับราชการ เพราะมีความมั่นคง อย่างเช่นที่คนตกเบ็ดได้กล่าวไว้ว่า ตกเบ็ดหาปลาก็ดี คนตกเบ็ดพูด ไม่มีวันอด ได้ปลาอยู่วันยังค่ำ มีแต่จะมากหรือน้อยเท่านั้นเอง เป็นต้น อาชีพราชการมีเงินเดือนรองรับทุกเดือน จะได้มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความขยันของแต่ละคน เช่น ทหาร ตำรวจ ที่ยศสูงย่อมได้เงินเดือนมากกว่าคนที่มียศต่ำ คนที่มีอาชีพแน่นอนจึงมักทำตัวเรื่อยเปื่อยไม่ค่อยมีแรงกระตุ้น บางครั้งอาจค่อยเวลามากเกินไป จนทำให้เวลานั้นศูนย์เปล่าไปโดยไม่เกิดประโยชน์
 คนแทงฉมวกอาจเปรียบได้กับนักการเมือง เพราะคนแทงฉมวกหวังแทงเอาเฉพาะปลาตัวใหญ่เท่านั้น ถึงแม้ต้องรอคอยเวลา แต่ก็คุ้มกับผลตอบแทน นักการเมือง ส่วนมากจะเป็นคนที่คิดการไกลมีการวางแผนล่วงหน้า ต้องทำในสิ่งที่ตนได้ผลประโยชน์มากที่สุดแต่บางครั้งก็เป็นอาชีพที่เลื่อนลอย ไม่มีหลักให้ยึด ในบางครั้งถึงแม้จะเห็นปลาตัวใหญ่แล้ว แต่คนเราก็ต้องมีพลาดกันทุกคน ถ้าหากแทงผิดเป้า ความหายนะก็มาเยือนได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน มีนักการเมืองจำนวนไม่น้อยในปัจจุบันที่ลงทุนกับอาชีพนี้แล้วสูญเปล่าอย่างไม่ได้อะไรเลย
ส่วนตัวละครสุดท้าย ซึ่งตรงกับชื่อเรื่อง คือคนดำน้ำ อาจเปรียบได้กับ นักศึกษาหรือคนรุ่นใหม่ที่แสวงหาความคิดใหม่ๆ ที่แปลกไปจากคนอื่น หรืออาจจะกล่าวรวมไปถึงเรื่องการเมืองที่นักศึกษาในยุคนั้นมีความสำคัญที่ทำให้การปกครองของประเทศมีการเปลี่ยนแปลง ด้วยความคิดที่แปลกให้ แนวคิดที่แตกต่างออกไป ทำให้คนสมัยนั้นไม่เข้าใจในสิ่งที่นักศึกษาทำ ประชาชนส่วนใหญ่ในยุคนั้นยังเชื่อในขนบธรรมเนียมที่เป็นแบบเก่าอยู่มาก จะเปลี่ยนแปลงอะไรนิดหน่อยบางครั้งก็เกิดการต่อต้าน โดยอ้างเหตุผลเก่าๆ ว่าสังคมไทยเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แทนที่จะลงมือศึกษาให้เห็นแจ้งก่อนค่อยออกมาแสดงความคิดเห็นหรือต่อต้าน ที่สำคัญคือ สิ่งที่นักศึกษาทำนั้นมันชัดเจนอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่มีใครเข้าใจพวกเขา
          หากนำเรื่องราวมาโยงให้สัมพันธ์กัน โดยการแทนสัญลักษณ์จากข้างต้น อาจทำให้เราทราบว่า คนดำน้ำหรือนักศึกษา คือ ต้นแบบของแนวคิดใหม่ ความคิดของพวกเขาเข้ามามีอิทธิพลกับคนทุกฝ่ายทุกอาชีพ จะเห็นได้จาก การกระโดดน้ำลงไปในบึงแล้วส่งผลกระทบต่อ สองคน คือ คนตกเบ็ดหรือข้าราชการ และคนแทงฉมวกหรือนักการเมือง ส่วน คนเลี้ยงผักบุ้งจะไม่ค่อยได้รับผลกระทบ ก็เหมือนปัจจุบัน การเมืองจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร เกษตรกรก็ยังเป็นชนชั้นรากหญ้าอยู่เหมือนเดิม เมื่อความคิดใหม่ของนักศึกษาเข้ามามีบทบาทมากขึ้นจนเกิดเป็นพลัง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เช่น ตอนนี้ คนแทงฉมวกไม่แน่ใจที่ต่อไปจะแทงฉมวกอยู่หรือจะดำน้ำเพื่อหาปลาดี เพราะสิ่งที่ตนทำอยู่ไม่มีความหมาย ก็เปรียบเหมือนการเมืองในสมัยนั้น ที่สุดท้ายรัฐบาลก็ต้องยอมรับฟังพลังแห่งนักศึกษา สุดท้ายคนที่เดินหันหลังให้นักศึกษาในสมัยนั้นก็คือนักการเมือง ดังนั้นสิ่งที่ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงในยุคนั้น คือนักศึกษา กับ นักการเมืองเท่านั้น ส่วนคนที่ยังอยู่ที่เก่าและยังมองดูอยู่เฉยๆ คือ ชนชั้นกรรมมาชีพ และข้าราชการ ที่ไม่ได้ใช้สิทธิใช้เสียงในเรื่องการเมืองการปกครอง

          สุดท้ายแม้คนเราจะต่างความคิดเห็น มีความคิดเป็นของตนเอง เชื่อมั่นในตนเองอย่างไร แต่เมื่ออยู่ในสังคมเดียวกันเราทุกคนต้องปรับตัวเข้าหากัน อย่าใช้อารมณ์ส่วนตัวตัดสินปัญหาส่วนร่วม หรือในเรื่องต่างๆก็ตามแต่ เมื่อมีถูกก็ต้องมีผิดเป็นธรรมดา มีเหมือนกันก็ต้องมีต่างกัน การขับเคลื่อนไม่ว่าอะไรก็ต้องมีสองทิศทางเสมอ หารเปรียบรถกระบะคันหนึ่งเป็นสังคมและถนนที่อยู่ใต้ท้องรถเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดีหรือสิ่งต่างๆที่สังคมยังไม่เปิดเผย เราจะไม่รู้เลยว่าถนนที่อยู่ใต้ท้องรถเป็นอย่างไร เราจะรู้ก็ต่อเมื่อรถคันนั้นขับเคลื่อนออกไปเราจึงจะเห็นถนนที่อยู่ใต้ท้องรถว่ามันเรียบหรือมันขรุขระ การเมืองหรือด้านต่างๆก็เช่นกัน เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเท่านั้นเราจึงจะเห็นข้อผิดพลาดหรือส่วนที่ดีของตนเอง การอยู่ร่วมกันในสังคมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรตระหนัก ให้ความสำคัญ เราจึงจะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข  

5 เรื่องที่คุณไม่เคยรู้มาก่อน

  นี้ก็เป็น ep.2 สำหรับคลิปที่น่าสนใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์รอบตัวเรา คุณเคยรู้ไหมว่าขนของเราส่วนไหนแข็งที่สุด ถ้าอยากรู้ก็เข้าไปดูกันนะครับ ช่...