วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

วิจารณ์ เรื่อง การล่มสลายของสถาบันครอบครัวที่ความรักไม่อาจเยียวยา

เรื่อง การล่มสลายของสถาบันครอบครัวที่ความรักไม่อาจเยียวยา

สิ่งใดจะแทนรักได้
ความรักที่ผิดหวัง คงไม่มีใครต้องการพบเจอกับสถานการณ์แบบนี้แน่นอน เพราะทุกคนล้วนต้องการความรักที่สมบูรณ์แบบ ความรักที่สมหวัง ความรักที่สามารถสร้างความสุขให้กับชีวิตได้ แต่จะมีสักกี่คนที่ได้พบกับความรักที่งดงามเช่นนี้ และมีอีกกี่คนต้องพบกับความรักที่มีแต่ความเจ็บปวดฝังใจ หากวันหนึ่งเราต้องพบกับความรักที่ผิดหวัง ดั่งคมมีดกรีดลงผิวบาดลึกไปถึงทรวงใน เราคงนอนร้องไห้คร่ำครวญแทบบ้าคลั่ง จนไม่เหลือเค้าโครงของความเป็นมนุษย์ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความเจ็บปวดนั้นจะสูญสลายไปตามกาลเวลา เหลือเพียงรอยแผลเป็นที่ไม่มียาตัวใดรักษาให้หายได้ บางคนอาจทนรับความเจ็บปวดไม่ไหว จนต้องหาทางออกโดยวิธีการในแบบฉบับตัวเอง เพื่อกอบกู้ความรักให้กลับมางดงามดังเดิม
การล่มสลายของสถาบันครอบครัวที่ความรักไม่อาจเยียวยา ผลงานของ อรุณวดี   อรุณมาศ นักเขียนหญิงของวงการวรรณกรรมไทย เป็นหนังสือที่ผ่านเข้ารอบหกเล่มสุดท้ายรางวัลซีไรต์ปี พ.ศ. 2540 เป็นนวนิยายเชิงจิตวิเคราะห์มนุษย์ในสถานการณ์อันตีบตัน มีความโดดเด่นด้านความรุนแรงทางอารมณ์ เนื้อหาสะท้อนปัญหาสังคมที่เกิดจากครอบครัว ทำให้เห็นสภาพจิตใจของเด็กผู้หญิงที่เกิดมาท่ามกลางความไม่ต้องการของคนในครอบครัว
สำหรับนวนิยายเรื่องแรกของเธอเล่มนี้ เราไม่กล้ายืนยันว่าเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องแต่ง แต่ทุกประโยค ทุกถ้อยคำที่เธอนำมาเรียบเรียงร้อยไว้ ล้วนแต่พุ่งกระแทกสู่ความรู้สึกอย่างรุนแรง- รุนแรง จนเราสามารถมองเห็นภาพความตายไหวยะเยือกอยู่ตรงหน้า ไม่ว่าจะหลับตาหลบหรือสั่นหน้าปฏิเสธ แต่เราจะวางใจได้หรือว่าสิ่งนี้ไม่ได้มีอยู่จริงในสังคม
                                                                                คำนำสำนักพิมพ์
การล่มสลายของสถาบันครอบครัวที่ความรักไม่อาจเยียวยาหรือแล้วแต่ผู้อ่านท่านอื่นๆจะเรียก ความรักไม่อาจเยียวยา เป็นเรื่องราวของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่เกิดมาพร้อมกับคำว่าไม่มีใครต้องการ มักจะมีคนพูดกรอกหูเธอเสมอว่าแม่ต้องการจะทำแท้งเอาเธอออก เธอไม่เคยเจอหน้าพ่อที่แท้จริงของเธอ มีพี่สาวร่วมสายเลือดเดียวกันอยู่หนึ่งคน แต่กลับไม่เคยได้อยู่ร่วมกัน จนหาความผูกพันระหว่างพี่กับน้องไม่ได้เลย ชีวิตในวัยเด็กต้องย้ายบ้านไปอยู่กับญาติพี่น้องคนอื่นๆ อยู่เสมอ ในขณะที่แม่ต้องไปทำงานต่างประเทศ ทำให้เธอกลายเป็นเด็กขาดความรัก ความอบอุ่นจากพ่อและแม่ มีชีวิตอยู่ท่ามกลางความเกลียดชัง และเติบโตมากับความรุนแรงของคนในครอบครัว เมื่อแม่กลับมาแล้วพาเธอไปอยู่กับพ่อ แต่เธอไม่สามารถเรียกพ่อได้เต็มปาก ไม่สามารถเข้าไปกอดได้เหมือนพ่อลูกคู่อื่นๆ เพราะญาติพี่น้องของพ่อไม่มีคนยอมรับให้เธอเป็นลูกหลานบ้านนี้ พ่อมักจะใช้เธอไปจับสัตว์เล็กสัตว์น้อย เพื่อนำมาเป็นอาหารให้นกที่พ่อเลี้ยงไว้ เป็นการปลูกฝังให้เธอต้องพบกับการทารุณและโหดร้ายตั้งแต่เด็กเมื่อเธอทำอะไรไม่ถูกใจ พ่อมักจะลงโทษ และด่าทอด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย ซึ่งแตกต่างจากพี่สาวของเธออย่างสิ้นเชิง เพราะพ่อให้ความรัก ความสนใจกับพี่สาวมากเกินไป จนลืมว่าพ่อก็มีลูกสาวอีกหนึ่งคน
ความรู้สึกที่เธอถูกปฏิเสธไม่เป็นที่ยอมรับจากคนรอบข้าง สะสมมาจนกระทั่งเธอโตเป็นสาว ขณะนี้แล้วก็ยังไม่มีใครให้ความสำคัญกับเธอเลย ความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวเข้ามาแทนที่ความอบอุ่นจากพ่อและแม่ ทำให้เธอเลือกเดินทางผิด หันไปพึ่งสารเสพย์ติด โดยเริ่มจากยานอนหลับก่อน แล้วเพิ่มฤทธิ์ยาขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้กลายเป็นคนติดยานอนหลับ เธอต้องการเรียกร้องความสนใจจากแม่ ด้วยการทำร้ายตัวเองโดยวิธีที่วิตถารคล้ายกับคนโรคจิต เป็นวิธีที่น่าสยดสยองและสะอิดสะเอียนความเจ็บปวดครั้งนี้ทำให้เธอรู้สึกได้ว่า เธอยังมีชีวิตอยู่เพื่อรอคอยความรักจากแม่
นวนิยายเรื่องนี้ ไม่ได้มีการกำหนดชื่อตัวละคร มีเพียงแต่ ฉันเป็นตัวดำเนินเรื่อง กลวิธีในการเล่าเรื่อง ผู้แต่งเป็นคนกำหนดให้ตัวละครเล่าเรื่องของตัวเองสลับไปมาระหว่างอดีตและปัจจุบัน เหมือนกับการเขียนบันทึกประจำวันบอกเล่าเรื่องของตนเอง เป็นการเปิดปมตัวละครไปเรื่อยๆ ว่าเพราะเหตุใด ฉันต้องทำร้ายร่างกายและจิตใจของตนเองถึงขนาดนี้ นอกจากนั้นแล้ว เธอไม่ได้ทำร้ายแค่ตัวเองเท่านั้น ยังทำร้ายจิตใจของคนเป็นแม่ด้วย เธอรู้อยู่แก่ใจว่าการที่เธอทำแบบนี้แล้วแม่จะต้องร้องไห้เสียใจ แต่เธอก็ยังทำเพื่อความรักที่ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยได้สัมผัสสักครั้ง
ฉากหลังของเรื่องคือครอบครัวที่ไม่อบอุ่น คนในครอบครัวขาดภาวะของการเป็นผู้ปกครองที่ดี แยกทางกันอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับชื่อเรื่อง คือ การล่มสลายของสถาบันครอบครัวฯในเรื่องนี้ผู้แต่งเน้นที่ฉากและบรรยากาศของเรื่อง ซึ่งแต่งได้อย่างโดดเด่นและเห็นภาพชัดเจนเกิดอารมณ์ร่วมกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น ชวนสะอิดสะเอียนไปกับกลิ่นคาวเลือด ฉากที่ผู้แต่งบรรยายได้เห็นภาพชัดเจนสำหรับผู้อ่าน คือฉากที่ตัวละครเอกทำร้ายตัวเองด้วยการปล่อยให้เลือดไหลออกมาทางสายน้ำเกลือแล้วนำมาดื่ม ขณะที่อ่านรู้สึกอยากจะอาเจียนออกมา คล้ายกับว่าผู้อ่านเป็นคนดื่มเลือดเข้าไปเอง ผู้แต่งได้ดึงความรู้สึกของผู้อ่านเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในเรื่อง สร้างความกดดันและสลดใจให้กับผู้อ่าน ทำให้คล้อยตามและชวนพะอืดพะอมไปในเวลาเดียวกัน
บรรยากาศเหมือนอยู่กึ่งกลางระหว่างความเป็นกับความตายให้ความรู้สึกที่หดหู่สิ้นหวัง เป็นคนไร้ความหมาย ทั้งที่ศักดิ์ศรีความเป็นคนมีเท่ากัน แต่สำหรับเธอนั้น ดูเหมือนจะเป็นเพียงมารหัวขนที่เป็นผลพลอยได้จากกามารมณ์เท่านั้น ไม่ได้มีความหมายใดๆต่อคนในครอบครัวเลย
พื้นฐานของมนุษย์ทุกชีวิตล้วนเติบโตและถูกหล่อหลอมมาจากพฤติกรรมที่มีอยู่ในสังคม โดยสถาบัน ครอบครัวคือสถาบันที่อยู่ใกล้ชิดที่สุดสำหรับมนุษย์ทุกคน คนในครอบครัวควรให้ความรัก อบรมสั่งสอนมีการปลูกฝังแต่สิ่งที่ดีงาม เป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็กได้ยึดถือเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต เพื่อจะได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสมบูรณ์เพียบพร้อมไปทุกด้าน ทั้งด้านการศึกษา สติปัญญาและจิตใจ
การล่มสลายของสถาบันครอบครัวที่ความรักไม่อาจเยียวยา เป็นหนังสือที่ตีแผ่ด้านมืดในจิตใจของมนุษย์ ที่หลายๆคนไม่เคยเจอหรือสัมผัสมาก่อนให้เห็นความสำคัญของคนในครอบครัวตนเอง ในสถานการณ์ที่เปล่าเปลี่ยวขาดความรักจากคนในครอบครัว อยู่ท่ามกลางกลิ่นคาวเลือดและความตาย ตัวละครยังอยากมีชีวิตอยู่บนความเจ็บปวด เพื่อตามหาสิ่งที่เรียกว่าความรัก 
สิ่งสำคัญสำหรับครอบครัวคือคำว่า ความรัก หากล่มสลายไปแล้ว ไม่มีสิ่งใดมาเยียวยาให้กลายเป็นปกติได้

                                                                                                        ปล.แก้มย้วย


ไม่มีความคิดเห็น:

5 เรื่องที่คุณไม่เคยรู้มาก่อน

  นี้ก็เป็น ep.2 สำหรับคลิปที่น่าสนใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์รอบตัวเรา คุณเคยรู้ไหมว่าขนของเราส่วนไหนแข็งที่สุด ถ้าอยากรู้ก็เข้าไปดูกันนะครับ ช่...